จับตาเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับสหภาพยุโรปในช่วงวันที่ 1-11 เมษายน 2562

จับตาเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับสหภาพยุโรปในช่วงวันที่ 1-11 เมษายน 2562

วันที่นำเข้าข้อมูล 22 เม.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 999 view

 จับตาเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับสหภาพยุโรปในช่วงวันที่ 1-11 เมษายน 2562

การเมือง – 1 เม.ย. 2562 สภาสามัญ สอ. ลงมิติไม่รับร่างฉบับแก้ไขทั้ง 4 ประเด็นของ Withdrawal Agreement ได้แก่ 1) ข้อเสนอ customs union ซึ่งเสนอโดย MP ในกลุ่ม Tory[1] จากพรรค Conservative สภาสามัญ สอ.
ลงมติไม่รับด้วยคะแนน 276 ต่อ 273 เสียง 2) ข้อเสนอ common market 2.0 (Norway Model) ซึ่งเสนอโดย MP จากทั้งพรรค Conservative, Labours และ SNP สภาสามัญ สอ. ลงมติไม่รับด้วยคะแนน 282 ต่อ 261 เสียง
3) ข้อเสนอให้ประชาชนรับรองข้อเสนอที่ผ่านการลงมติจากสภาสามัญ สอ. ก่อนลงสัตยาบัน ซึ่งเสนอโดย MP จากพรรค Labours สภาสามัญ สอ. ลงมติไม่รับด้วยคะแนน 295 ต่อ 268 เสียง 4) ข้อเสนอให้สภาสามัญ สอ. ลงมติให้ เกิด Brexit แบบ no-deal หรือยกเลิก Article 50 หากไม่สามารถขอขยาย Brexit ได้ ซึ่งเสนอโดย MP จากพรรค Labours และ SNP สภาสามัญ สอ. ลงมติไม่รับด้วยคะแนน 293 ต่อ 184 เสียง ส่งผลให้นาง Theresa May ตัดสินใจที่จะต้องขอขยายเวลา Brexit ออกไปจากเดิมที่ EU ให้ขยายได้ถึงวันที่ 12 เม.ย 2562

            - 5 เม.ย 2562 นาง Theresa May นายกรัฐมนตรี สอ. ส่งหนังสือถึง นาย Donald Tusk ประธานคณะมนตรียุโรป โดยใจความสำคัญคือ สอ. ต้องการขอขยาย Brexit ไปจนถึงวันที่ 30 มิ.ย 2562 เน้นย้ำว่า สอ. จะยอมรับเงื่อนไขที่ EU เสนอตาม Withdrawal Agreement โดยปราศจากการขอเจรจาใหม่ อย่างไรก็ดี สำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภายุโรป นายกรัฐมนตรี สอ. แจ้งว่า จะเตรียมการสำหรับการเลือกตั้ง หากสภาสามัญ สอ. ไม่สามารถผ่าน Withdrawal Agreement ได้ก่อนการเลือกตั้งสภายุโรป ทั้งนี้ การขยาย Brexit ไปจนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2562 แม้จะส่งผลให้ สอ. อาจต้องจัดการเลือกตั้งสภายุโรป แต่ก็ยังเปิดโอกาสให้ สอ. ไม่ต้องส่งผู้แทนที่ได้รับเลือกตั้งเข้าสู่สภายุโรป ซึ่งจะเปิดประชุมครั้งแรกในวันที่ 2 ก.ค. 2562

            - 10 เม.ย 2562 ที่ประชุมคณะมนตรียุโรปประกาศขยายเวลา Brexit ออกไปเป็นวันที่ 31 ตุลาคม 2562 โดยที่ EU เสนอ 3 เงื่อนไขเพิ่มเติมให้ ได้แก่ 1) หาก สอ. ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งสภายุโรปได้ สอ. จะขยายเวลา Brexit ให้ถึงเพียงวันที่ 1 มิถุนายน 2562 2) หาก สภาสามัญ สอ. สามารถลงมติผ่าน Withdrawal Agreement ได้ก่อนวันที่ 31 ตุลาคม 2562 สอ. จะสามารถออกจาก EU ได้ในวันที่ 1 ของเดือนถัดไปหลังจาก
ที่ทั้งสองฝ่ายให้สัตตยาบันความตกลงดังกล่าว อย่างไรก็ดี EU ยืนยันว่าจะไม่เปิดการเจรจาใหม่ และจะยังคงเงื่อนไขเดิมที่ได้ตกลงไว้ใน Withdrawal Agreement จึงทำให้น่าติดตามต่อไปว่า นายกรัฐมนตรี สอ. จะดำเนินการอย่างไรต่อไปเพื่อให้สภาสามัญ สอ. สามารถลงมติผ่าน Withdrawal Agreement ได้

ความมั่นคง – 3 เม.ย 2562 สภายุโรปเห็นชอบร่างกฎหมาย ให้ประชากร สอ. เดินทางภายใน ประเทศสมาชิก EU ได้ โดยไม่ต้องขอรับการตรวจลงตราหลังจาก Brexit ด้วยคะแนนเสียง 38 ต่อ 8 คะแนน

เศรษฐกิจ – 2 เม.ย. 2562 นาย Jean-Claude Juncker ประธาน คมธ. ยุโรป เดินทางเยือนอิตาลี ได้พบหารือกับนาย Giuseppe Conte นายกรัฐมนตรีอิตาลี โดยนาย Juncker แสดงความกังวลต่อการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของอิตาลี และกล่าวถึงตัวเลขหนี้สาธารณะของอิตาลีว่า เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้อิตาลีต้องคำนึงถึง
อย่างไรก็ดี นาย Conte ได้ขอให้ประเทศสมาชิก EU เพิ่มการใช้จ่ายสาธารณะเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจใน EU แม้ปัจจุบันอิตาลีจะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ แต่ได้คาดการณ์สภาวะดังกล่าวไว้ พร้อมทั้งดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัวเพื่อรับมือแล้ว

การต่างประเทศ – 3 เม.ย 2562 สหภาพยุโรปประกาศให้เงินช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ลิเบียเพิ่มอีกจำนวน 6 ล้านยูโร โดยกล่าวว่าการสาธารณสุขและการแพทย์ในลิเบียประสบปัญหาขาดแคลนเครื่องมือแพทย์ และบุคลากร ปัจจุบันยอดเงินความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่มอบให้แก่ลิเบียตั้งแต่ปี 2561 รวมทั้งสิ้น 15 ล้านยูโร

                    – 4 เม.ย. 2562 ผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรปด้านการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคง (HR/VP) ได้ออกแถลงการณ์ไม่ยอมรับมติถอดถอนความคุ้มกันทางรัฐสภาของสภาร่างรัฐธรรมนูญของเวเนซุเอลา ต่อ นาย Juan Guaido ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา และรักษาการประธานาธิบดี (interim President) ซึ่งได้รับการรับรองจาก 54 ประเทศทั่วโลก อาทิ สหรัฐอเมริกา ประเทศต่าง ๆ ในยุโรป และประเทศส่วนใหญ่ในละตินอเมริกา โดยจากเหตุการณ์ดังกล่าว EU ได้เรียกร้องให้รัฐบาลเคารพสิทธิอันพึงมีของนาย Guaido ที่ควรได้รับการคุ้มครองมิใช่การข่มขู่ ในการดำรงตำแหน่งและทำหน้าที่

                     - 8 เม.ย 2562  คณะมนตรียุโรปมีมติขยายเวลามาตรการลงโทษอิหร่านต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อไปอีก 1 ปี โดยมาตรการดังกล่าวประกอบด้วย 1) ระงับหนังสือเดินทาง และการเคลื่อนย้ายทรัพย์สินของบุคคล 82 คน และ 1 องค์กร และ 2) ระงับการส่งออกสินค้า อาทิ อาวุธยุทโธปกรณ์ และอุปกรณ์สื่อสาร สำหรับเฝ้าติดตาม (monitor) โดยมาตรการลงโทษดังกล่าวมีขึ้นตั้งแต่ ปี 2554 และขยายเวลาต่อเนื่อง

                     - 9 เม.ย 2562 จีนและ EU จัดการประชุม EU-China Summit ขึ้น โดยมีนาย Donald Tusk ประธานคณะมนตรียุโรป พร้อมด้วย นาย Jean-Claude Juncker ประธาน คมธ. ยุโรป เป็นประธานฝ่าย EU และนาย Li Keqiang นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นประธานฝ่ายจีน ในการประชุมดังกล่าว  ทั้งสองฝ่ายสามารถออกข้อตกลงร่วมกันได้ในประเด็นต่าง ๆ ส่วนใหญ่เป็นประเด็นทางด้านเศรษฐกิจ อาทิ 1) การผลักดันให้มีการแก้ไขและปฏิรูป WTO ให้สอดคล้องกับบริบทการค้าโลกในปัจจุบัน โดยทั้งสองฝ่ายหวังจะผลักดันประเด็นดังกล่าวในที่ประชุม G20 2) การเสริมสร้างและส่งเสริมระเบียบระหว่างประเทศทางด้านอุตสาหกรรม และ 3) การหารือด้านทวิภาคีในประเด็นเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ยังมีการหารือประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนในกรอบ EU-China Human Rights Dialogue และประเด็นเกี่ยวกับการส่งเสริมความเชื่อมโยง   และข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง

 

**************



[1] กลุ่ม Tory ถูกขนานนามว่าเป็นกลุ่มกบฏในพรรค Conservative เนื่องจากมีท่าทีและจุดยืนที่ต่อต้านนโยบายและท่าทีของพรรค โดยเฉพาะท่าทีและข้อเสนอของนายกรัฐมนตรี สอ. นาง Theresa May  ต่อ Withdrawal Agreement