เป้าหมายสำคัญของการเยือนยุโรปของประธานาธิบดีจีน

เป้าหมายสำคัญของการเยือนยุโรปของประธานาธิบดีจีน

วันที่นำเข้าข้อมูล 22 เม.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 4,811 view

เป้าหมายสำคัญของการเยือนยุโรปของประธานาธิบดีจีน

 

ทุกย่างก้าวของจีนในการเดินเกมรุกทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมืองในยุโรปต่างได้รับการจับจ้องจากทั่วโลกและจากหลายฝ่ายในยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาถึงสถานการณ์ล่าสุด ที่คณะกรรมาธิการยุโรปได้ออกเอกสาร EU-China: A Strategic Outlook เมื่อต้นเดือนมีนาคม ๒๕๖๒ โดยกล่าวเรียกจีนว่า “เป็นคู่แข่งด้านเศรษฐกิจโดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยี และเป็นปฏิปักษ์เชิงระบบ” ก่อนการเดินทางเยือนยุโรปของประธานาธิบดีจีนครั้งล่าสุดระหว่างวันที่ ๒๑-๒๖ มีนาคม ๒๕๖๒ ที่ผ่านมา

ประเด็นที่เป็นเรื่องท้าทายสำหรับสหภาพยุโรปในการพัฒนาความสัมพันธ์กับจีน คงหนีไม่พ้นเรื่อง ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative – BRI) ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์หลักของจีนที่ริเริ่มโดยประธานาธิบดี สี จิ้นผิง โดยมีเป้าหมายในการนำพาความฝันของชาวจีน (Chinese Dream) เข้าสู่ความเป็นจริง โดยใช้กลไกการดำเนินนโยบายการต่างประเทศของจีนเพื่อผลักดันการค้าและเศรษฐกิจเพื่อนำพาจีนไปสู่สังคมที่มีความมั่งคั่ง

สำหรับจีนแล้ว ดูเหมือนจะมีความพยายามมาโดยตลอดที่จะปักหมุดประเทศในยุโรปใต้และยุโรปกลางเพื่อเชื่อมโยงจีนกับยุโรป โดยเริ่มแรกตั้งแต่ปี ๒๕๕๕ จีนสนับสนุนให้มีการจัดตั้งความร่วมมือที่เรียกว่า “๑๖+๑” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างจีนกับประเทศในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก ประกอบด้วยประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ๑๑ ประเทศ และประเทศบอลข่านอีก ๕ ประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างกัน โดยเฉพาะในฐานะที่ประเทศดังกล่าวเคยเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ด้วยกันมาก่อน นอกจากนี้ จีนยังมองว่า ที่ตั้งของประเทศในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกมีภูมิรัฐศาสตร์ที่ดีที่สามารถเป็นสะพานเชื่อมจีนไปยังตลาดสหภาพยุโรป รวมทั้งยังเป็นแนวระเบียงเศรษฐกิจ (transit corridor) ที่เชื่อมโยงกับ BRI ได้

ความร่วมมือระหว่างจีนกับประเทศในยุโรปยังได้เพิ่มพูนมากขึ้นและขยายไปยังประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป โดยกรีซและโปรตุเกสได้ลงนามความร่วมมือกับจีน โดยเฉพาะการสนับสนุนโครงการที่เกี่ยวข้องกับ BRI เมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๖๑ และเดือนมกราคม ๒๕๖๒ ตามลำดับด้วย

สำหรับการเดินทางเยือนยุโรป ๓ ประเทศ ได้แก่ อิตาลี โมนาโก และฝรั่งเศสของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ระหว่างวันที่ ๒๑-๒๖ มีนาคม ๒๕๖๒ ในครั้งนี้ ได้ถูกจับตามากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในบริบทของการเยือนอิตาลีที่มีมิติที่เกี่ยวโยงกับการสนับสนุน BRI ของจีน เนื่องจากในช่วงก่อนการเยือน ได้มีกระแสข่าวว่า อิตาลีจะเป็นประเทศสมาชิกกลุ่ม G7 ที่เป็นประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปชาติแรกที่จะลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) สนับสนุน BRI   

มุมมองของจีนและสหภาพยุโรปเกี่ยวกับ BRI 

 BRI เป็นยุทธศาสตร์หลักของจีน ซึ่งครอบคลุมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบคมนาคมขนส่ง ซึ่งได้แก่ รถไฟฟ้า ท่าอากาศยาน ไปจนถึงเส้นทางเดินเรือ โดยทำให้ภูมิภาคเอเชียสามารถเชื่อมต่อกับภูมิภาคอื่นของโลกได้ และไม่เพียงจะเป็นประโยชน์กับจีนทางด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ BRI ยังถูกใช้เพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ด้านการค้าและการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมด้วย

BRI เชื่อมโยง ๖ ระเบียงเศรษฐกิจของโลก ได้แก่ สะพานเศรษฐกิจยูเรเชียใหม่ ระเบียงเศรษฐกิจจีน-มองโกเลีย-รัสเซีย  ระเบียงเศรษฐกิจจีน-เอเชียกลาง-เอเชียตะวันตก  ระเบียงเศรษฐกิจจีน-คาบสมุทรอินโดจีน ระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน และระเบียงเศรษฐกิจบังกลาเทศ-จีน-อินเดีย-เมียนมา    ที่ตัดผ่านประเทศกำลังพัฒนามากกว่า ๖๕ ประเทศ โดยเชื่อว่า BRI จะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อประชากรโลกกว่า ๔.๔ พันล้านคน หรือคิดเป็น ๑ ใน ๓ ของเศรษฐกิจโลก ซึ่งถือได้ว่าเป็นโครงการลงทุนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของจีน ที่ต้องหาพันธมิตรและอาศัยความร่วมมือกับบรรดาธุรกิจต่างชาติ

เมื่อครั้งประธานาธิบดี สี จิ้น ผิงประกาศข้อริเริ่ม “New Silk Road” ครั้งแรก เมื่อปี ๒๕๕๖ โดยมุ่งเน้นการเชื่อมโยง ๓ ทวีป คือ เอเชีย ยุโรป และแอฟริกาเข้าด้วยกันนั้น ได้รับการตอบรับอย่างดีจากสหภาพยุโรป โดยยุโรปได้ให้ความสนใจกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตามเส้นทางสายไหมทางบก หรือ Silk Road Economic Belt และเส้นทางสายไหมทางทะเล หรือ Maritime Silk Road

อย่างไรก็ดี ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลายประเทศในยุโรปได้เริ่มระแวงถึงแรงจูงใจทางเศรษฐกิจและการเมืองของจีนภายใต้ข้อริเริ่มดังกล่าว โดยเห็นว่า BRI เป็นความพยายามของจีนที่ต้องการแผ่ขยายอิทธิพลและเข้ามามีบทบาททั้งทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจทั้งในระดับโลกและภูมิภาค สหภาพยุโรปกังวลและหวาดระแวงว่า จีนจะเข้ามาขยายอิทธิพลบริเวณทะเลเมดิเตอเรเนียน และแสดงบทบาทแทนมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ รวมถึงจะทำให้สหภาพยุโรปเสียสมดุลทางอำนาจ นอกจากนี้ ยังเป็นการเพิ่มโอกาสให้แก่จีนในการส่งออกและใช้ประโยชน์จากกำลังการผลิตที่เหลือจากความต้องการภายในประเทศ รวมทั้งเป็นการเพิ่มการเข้าถึงแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและแหล่งพลังงานที่จีนต้องการ นอกจากนี้ ยุโรปยังมองว่า BRI ทำให้หลายประเทศเผชิญความเสี่ยงจากการแบกรับภาระหนี้ที่เกิดขึ้นในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น ศรีลังกาต้องเป็นหนี้จีนถึง ๑๓ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในยุโรปเอง ก็มีบางประเทศที่เป็นหนี้จีน เช่น มอนเตเนโกร เป็นหนี้จีนในการสร้างทางหลวงในการเชื่อมโยงกับท่าเรือในเซอร์เบีย

ในส่วนของสหภาพยุโรปนั้น ได้ออกยุทธศาสตร์ Connecting Europe and Asia – Building Blocks for an EU Strategy โดยมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างยุโรปและเอเชีย ทั้งในด้านการขนส่ง พลังงานและดิจิทัล ทั้งนี้ ฝ่ายสหภาพยุโรปพยายามที่จะตั้งมาตรฐานใหม่ โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนและกฎระเบียบระหว่างประเทศ

ที่ผ่านมา ความร่วมมือระหว่างสหภาพยุโรปกับจีนในเรื่อง BRI ไม่ค่อยจะประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่ แม้ว่าจะมีช่องทางโดยผ่าน EU-China Connectivity Platform ซึ่งเป็นแผนปฏิบัติการในการเชื่อมโยงโครงการระหว่างจีนกับคณะกรรมาธิการยุโรปเมื่อปี ๒๕๕๘ และในช่วงที่จีนจัดการประชุม BRI Summit ครั้งแรกเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๐ มีหลายประเทศในยุโรป ทั้งฝรั่งเศส เยอรมนี และอังกฤษได้ปฏิเสธที่จะลงนาม ในเอกสารผลลัพธ์การประชุมฯ โดยไม่พอใจที่มีการตัดเนื้อหาเกี่ยวกับความยั่งยืนทางสังคมและสิ่งแวดล้อมและความโปร่งใสออก

เป้าหมายและผลสำเร็จของการเยือนอิตาลี โมนาโก และฝรั่งเศสของประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง

ก่อนหน้าการเยือนของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง กระทรวงการต่างประเทศจีนได้ประกาศว่า การเยือนครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างจีนกับสหภาพยุโรป และเพิ่มพูนความร่วมมือกับยุโรปในเรื่อง BRI แม้ว่าในฟากฝั่งของยุโรปเองจะมีรายงานข่าวว่า มีแรงกดดันจากทั้งฟากฝั่งของเอกชนที่มีปัญหาในการเข้าไปยังตลาดของจีน และการให้เงินอุดหนุนแก่วิสาหกิจของรัฐบาลจีน ตลอดจนการล็อบบี้อย่างหนักจากฝ่ายสหรัฐฯ ในกรณีการใช้เทคโนโลยีเครือข่าย 5G ของ Huawei รวมถึงการไม่สนับสนุน BRI 

ระหว่างการเยือนดังกล่าว ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้เดินทางเยือนอิตาลีเป็นประเทศแรก และได้เข้าพบกับนาย Sergio Mattarella ประธานาธิบดีอิตาลี โดยทั้งสองฝ่ายได้พูดคุยและเห็นพ้องกันในเรื่องการดำเนินแนวทางการพัฒนาความสัมพันธ์จีน-อิตาลี โดยมีวิสัยทัศน์ทางยุทธศาสตร์ในระดับที่สูงขึ้น ขับเคลื่อนการพัฒนาความสัมพันธ์แบบหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ให้คืบหน้ามากขึ้น

นอกจากนี้ ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ยังได้พบหารือกับนาย Giuseppe Conte นายกรัฐมนตรีอิตาลีด้วย โดยทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐร่วมกัน ๑๙ ฉบับ ครอบคลุมความร่วมมือด้านการคมนาคม ด้าน start-ups  ด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ด้านการรักษามรดกวัฒนธรรม และการหารือทวิภาคีระหว่างกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองฝ่าย รวมถึงยังมีการลงนามบันทึกความเข้าใจในกรอบข้อริเริ่ม BRI

ผลจากการร่วมลงนาม MOU ในกรอบ BRI ในครั้งนี้ จะทำให้อิตาลีได้รับเงินลงทุนจากจีนที่มีมูลค่ามากถึง ๑ ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อกระตุ้นการพัฒนาทางเศรษฐกิจในอิตาลี และอิตาลีเองก็มีการเตรียมเปิดท่าเรือขนาดใหญ่ที่สุดในอิตาลี ๔ แห่ง ได้แก่ ท่าเรือ Genoa ท่าเรือ Palermo ท่าเรือ Trieste และท่าเรือ Ravenna ที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ให้จีนได้เข้ามาลงทุนเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมให้มีประสิทธิภาพและสะดวกมากขึ้น

ทั้งนี้ นาย Conte ได้แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎรของอิตาลี เกี่ยวกับการลงนาม MOU ว่า เป็นเพียงความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจ ไม่มีนัยยะทางการเมือง อย่างไรก็ดี การที่อิตาลีเปิดท่าเรือที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ทั้ง ๔ แห่งที่กล่าวไว้ข้างต้น ให้จีนเข้ามาลงทุนนั้น นำมาซึ่งเสียงคัดค้านไม่เห็นด้วยจากสหภาพยุโรป โดยสหภาพยุโรปมองว่า การเปิดท่าเรือที่สำคัญเหล่านั้น จะส่งผลทำให้ท่าเรือทั้ง ๔ แห่งกลายเป็นคู่แข่งท่าเรือที่สำคัญอื่น ๆ ของ EU ซึ่งจะกระทบต่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและความมั่นคง

นอกจากนี้  นาง Federica Mogherini ผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรปด้านการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคงและรองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ยังได้แสดงความกังวลว่า การลงนาม MOU ระหว่างจีนกับอิตาลีจะทำให้อำนาจต่อรองของสหภาพยุโรปกับจีนลดลง ขณะที่นาย Jean-Claude Juncker ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป แสดงความเห็นว่า ตลาดจีนไม่เปิดกว้างให้บริษัทยุโรปเข้าไปทำธุรกิจ

ภายหลังเสร็จสิ้นการพบหารือกับผู้นำของอิตาลี ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้เดินทางไปเยือนโมนาโก โดยได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากเจ้าชาย Albert II ผู้นำรัฐโมนาโก ประเด็นที่น่าสนใจจากการเยือนโมนาโกครั้งนี้ของผู้นำจีน นอกจากจะเป็นการพูดคุยกันเรื่องของความร่วมมือในการปกป้องสิ่งแวดล้อม การโทรคมนาคม และการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือแล้วนั้น ภาคเอกชนของทั้งสองฝ่าย ได้แก่ บริษัท Huawei ของจีนและบริษัท Monaco Telecom ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างกันด้วย ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาเครือข่ายอินเตอร์เน็ต 5G ในโมนาโก ซึ่งคาดหวังจะเป็นประเทศแรกในโลกที่มีเครือข่ายอินเตอร์เน็ต 5G ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศอย่างเต็มรูปแบบ

ระหว่างการเยือนโมนาโกดังกล่าว ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้ประกาศจุดยืนในการรักษาความสัมพันธ์กับทุกประเทศอย่างเท่าเทียมของจีน ไม่ว่าประเทศเหล่านั้นจะเป็นมีขนาดใหญ่หรือเล็กก็ตาม โดยแม้ในปัจจุบันจีนจะกลายมาเป็นประเทศที่เข้มแข็งอย่างมาก แต่ก็ยังคงมองหามิตรและสร้างความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ เพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน

ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ปิดท้ายการเยือนยุโรปครั้งนี้ด้วยการไปเยือนฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการ และได้พบหารือกับนาย Emmanuel Macron ประธานาธิบดีฝรั่งเศส โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันในประเด็นการพัฒนาความสัมพันธ์แบบหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านระหว่างจีนกับฝรั่งเศสให้มั่นคงและมีเสถียรภาพมากขึ้น มีการร่วมลงนามข้อตกลงทางการค้าร่วมกันระหว่างจีนกับฝรั่งเศส ซึ่งครอบคลุมดีลธุรกิจ ๑๕ ฉบับ รวมมูลค่ากว่า ๔๐,๐๐๐ ล้านยูโร ครอบคลุมตั้งแต่อุตสาหกรรมด้านพลังงาน การขนส่งไปจนถึงภาคธนาคาร

ทั้งนี้ ประธานาธิบดีฝรั่งเศส กล่าวว่า ฝรั่งเศสให้ความสนใจและให้ความสำคัญกับกรอบ BRI โดยถือว่าจีนเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญ และชื่นชมจีนที่แสดงบทบาทสำคัญในกิจการต่างประเทศ โดยเฉพาะเรื่องการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) นอกจากนี้ ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ยังได้เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามข้อตกลงระหว่างบริษัทแอร์บัสของฝรั่งเศสกับบริษัทไชน่าเอวิเอชั่นซัพพลายอิ้งโฮลดิ้ง (ซีเอเอสซี) โดยข้อตกลงนี้มีมูลค่าประมาณ ๓๐,๐๐๐ ล้านยูโร

นอกจากนี้ ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ยังได้เข้าร่วมการประชุมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับธรรมาภิบาลระดับโลก (global governance forum) ที่จีนและฝรั่งเศสเป็นเจ้าภาพร่วม ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงปารีส เมื่อวันที่    ๒๖ มีนาคม ๒๕๖๒ โดยมีนาย Emmanuel Macron ประธานาธิบดีของฝรั่งเศส นาง Angela Merkel นายกรัฐมนตรีของเยอรมนี และนาย Jean-Claude Juncker ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ด้วย

โดยในระหว่างการประชุมฯ ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้กล่าวในสุนทรพจน์โดยย้ำไปที่ประเด็นความไม่สมดุล (deficits) ๔ ประการ ที่เกิดขึ้นกับการต่างประเทศระดับนานาชาติในปัจจุบัน ประกอบด้วย ความไม่สมดุลของธรรมาภิบาล ความเชื่อใจ สันติภาพ และการพัฒนา โดยได้เสนอว่า การที่จะสามารถเติมเต็มความไม่สมดุลทั้งสี่ประการให้กลายเป็นความสมดุลได้ จะต้องนำหลักของความยุติธรรม การใช้เหตุผล การปรึกษาหารือ และการมีความเข้าอกเข้าใจกันมาประกอบด้วย ปัจจัยเหล่านี้จะส่งเสริมให้เกิดความพยายามร่วมกัน การให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ผลประโยชน์ร่วมกัน และผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจด้วยกันทั้งสองฝ่าย (win-win results)

ด้านผู้นำของยุโรปทั้งสามคนได้แสดงถึงความเห็นด้วยกับสุนทรพจน์ของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง โดย ประธานาธิบดี Macron ได้กล่าวว่า “การติดต่อสื่อสารและการประสานงานกันระหว่างสหภาพยุโรปกับจีนเป็นบทบาทที่จำเป็นในการปกป้องนโยบายแบบพหุภาคี” ด้านนายกรัฐมนตรี Merkel เห็นด้วยว่า “สหภาพยุโรปและจีนควรที่จะร่วมมือกันเพื่อปกป้องนโยบายแบบพหุภาคี และควรมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิรูปองค์การการค้าโลก (WTO) กับสถาบันพหุภาคีอื่น ๆ ด้วย” และนาย Juncker กล่าวว่า “สหภาพยุโรปและจีนนับเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญ และสำคัญมากที่สหภาพยุโรปและจีนจะคงกลไกการหารือระหว่างกันไว้”

ก้าวต่อไประหว่างจีนกับสหภาพยุโรป

การเดินทางไปเยือนยุโรปทั้งสามประเทศในครั้งนี้ของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง นับเป็นการไปเยือนที่สำคัญในแง่ของการพัฒนาและกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างจีนกับอิตาลี โมนาโก และฝรั่งเศส ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหภาพยุโรป มีการลงนามบันทึกความเข้าใจเรื่องความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าการลงทุนที่จะต้องดำเนินการภายใต้กรอบของ BRI ซึ่งเป็นโครงการสำคัญที่จีนพยายามผลักดันให้นานาชาติสนใจและเข้าร่วมมาโดยตลอด

สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับยุโรปในอนาคต อาจพอคาดเดาได้จากเอกสาร EU-China: A Strategic Outlook ซึ่งจัดทำขึ้นโดยฝ่ายสหภาพยุโรป ที่เน้นถึงการมีความสัมพันธ์ระหว่างหว่างกันที่มีความสมดุลมากขึ้นระหว่างสหภาพยุโรปกับจีน ทั้งในด้านการแข่งขันทางการค้าและการเปิดตลาดสินค้า
ที่เป็นธรรม และการดำเนินการตาม EU-China 2020 Strategic Agenda for Cooperation ที่เน้นการส่งเสริมความร่วมมือที่เปิดกว้าง ไม่เลือกปฏิบัติ บนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งได้มีการย้ำกันอีกครั้ง เมื่อการประชุม EU-China Summit ครั้งที่ ๒๑ ที่ผ่านมา เมื่อวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๖๒

ในส่วนของ BRI นั้น มีทิศทางที่ดีขึ้น โดยในเอกสารผลลัพธ์การประชุม EU-China Summit ที่ผ่านมา ได้ระบุว่า จะให้มีการดูจุดเชื่อมโยงระหว่าง EU Strategy on Connecting Europe and Asia และ EU-Trans-European Transport Networks กับ BRI  และคงต้องติดตามการประชุม BRI Summit ครั้งที่ ๒ ซึ่งกำหนดจะจัดขึ้นที่กรุงปักกิ่ง ระหว่างวันที่ ๒๖-๒๗ เมษายน ๒๕๖๒ ว่า ท่าทีของสหภาพยุโรป จีนและประเทศสมาชิกของ สหภาพยุโรปจะเป็นอย่างไรต่อไป

 

 

**************************