เข้าใจการเลือกตั้งสภายุโรป และจุดเปลี่ยนสำคัญของยุโรปจากการเลือกตั้งครั้งนี้

เข้าใจการเลือกตั้งสภายุโรป และจุดเปลี่ยนสำคัญของยุโรปจากการเลือกตั้งครั้งนี้

วันที่นำเข้าข้อมูล 22 เม.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 26 พ.ย. 2565

| 2,764 view

เข้าใจการเลือกตั้งสภายุโรป และจุดเปลี่ยนสำคัญของยุโรปจากการเลือกตั้งครั้งนี้

หลายท่านคงสงสัยและอยากจะทราบว่า การเลือกตั้งสภายุโรป หรือ European Parliament Election ซึ่งจะจัดขึ้นในประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป หรือ European Union (EU) ระหว่างวันที่ 23-26 พฤษภาคม 2562 นี้ จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงกับ EU ในด้านใดบ้าง และจะส่งผลต่อประเทศไทยหรือไม่ อย่างไร
 
ก่อนอื่น ขอสร้างความเข้าใจร่วมกันก่อนว่า กลไกการเลือกตั้งสภายุโรปเป็นอย่างไร 
 
ขอเล่าย้อนว่า มาตรา 138 ของสนธิสัญญาจัดตั้งประชาคมยุโรป หรือ The Maastricht Treaty ซึ่งทำขึ้นเมื่อปี 2535 กำหนดให้สภายุโรปมีสมาชิกที่ได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากพลเมืองของประเทศสมาชิกEU อย่างไรก็ดี จำนวนสมาชิกของสภายุโรปที่มาจากแต่ละประเทศ ก็อาจจะไม่ได้สอดคล้องกับขนาดของประเทศ หรือจำนวนประชากร แต่ยึดหลักความได้สัดส่วนแบบถดถอย (degressive proportionality) โดยสมาชิกสภายุโรปจากประเทศที่มีคนมากจะเป็นตัวแทนของคนจำนวนมากกว่าสมาชิกสภายุโรปจากประเทศที่มี
ประชากรน้อย ยกตัวอย่างเช่น สมาชิกสภายุโรปของเยอรมนี 1 คน เป็นตัวแทนของประชากร 8.5 แสนคน ขณะที่สมาชิกสภายุโรปจากลักเซมเบิร์ก 1 คน เป็นตัวแทนของพลเมือง 9 หมื่นคน เป็นต้น โดยสมาชิกสภา ยุโรปมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี
 
การเลือกตั้งสมาชิกสภายุโรปเป็นการเลือกตั้งโดยสมัครใจในหลายประเทศ ขณะเดียวกันในบางประเทศ ก็กำหนดให้การเลือกตั้งดังกล่าว เป็นการเลือกตั้งโดยหน้าที่ ได้แก่ เบลเยียม ไซปรัส กรีซ และลักเซมเบิร์ก โดยแต่ละประเทศสมาชิกของ EU จะเป็นผู้กำหนดวันเลือกตั้งเองในช่วงเวลาที่กำหนด
 
บรรดาสมาชิกสภายุโรปที่มาจากชาติสมาชิกต่าง ๆ จะรวมตัวกันเป็นกลุ่มทางการเมือง โดยแต่ละกลุ่มการเมืองจะเปรียบเสมือนกลุ่มแนวร่วมของพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์และแนวนโยบายที่คล้ายคลึงกัน โดยในปัจจุบัน มีกลุ่มการเมืองที่สำคัญรวมมากกว่า 10 กลุ่ม ที่สำคัญ ได้แก่
 
- กลุ่ม European People’s Party (EPP) ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองขวากลาง ที่ได้ที่นั่งมากที่สุดในสภายุโรป มีพรรคการเมืองที่เข้าร่วมกลุ่มที่มีแนวคิดเกี่ยวกับ Christian Democracy และ Pro-Europeanism เช่น พรรค CDU ของนายกรัฐมนตรี Angela Merkel จากเยอรมนี และพรรค ÖVP ของนายกรัฐมนตรี Sebastian
Kurz จากออสเตรีย เป็นต้น
 
- กลุ่ม Progressive Alliance of Socialists and Democrats (S&D) ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองแบบซ้ายกลาง ที่ได้ที่นั่งมากเป็นลำดับสอง มีพรรคการเมืองที่เข้าร่วมกลุ่มที่มีแนวคิดเกี่ยวกับ Social Democracy และPro-Europeanism เช่น พรรค Labour ในสหราชอาณาจักร และพรรค SPD ในเยอรมนี เป็นต้น
 
- กลุ่ม European Conservatives and Reformists (ECR) ซึ่งเป็นกลุ่มขวากลาง เพิ่งก่อตั้งขึ้นไม่นาน มีเป้าหมายที่จะปฏิรูปการทำงานของ EU ให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น มีพรรคการเมืองที่เข้าร่วมกลุ่มที่มีแนวคิดเกี่ยวกับ Economic Liberalism และ Euroscepticism เช่น พรรค Conservative ในสหราชอาณาจักร และพรรค Law and Justice ในโปแลนด์ เป็นต้น
 
- กลุ่ม The Alliance of Liberals and Democrats for Europe (ALDE) เป็นกลุ่มอุดมการณ์แบบกลาง เช่น พรรค Danmarks Liberale Parti ในเดนมาร์ก พรรค Open Vlaamse Liberalen enDemocraten ในเบลเยียม เป็นต้น และพรรค REM ของประธานาธิบดี Emmanuel Macron ของฝรั่งเศส
 
- กลุ่ม Europe of Nations and Freedom (ENF) ซึ่งก่อตั้งขึ้นใหม่เมื่อปี 2558 โดยกลุ่มสมาชิกสภายุโรปที่มีแนวคิดแบบขวาจัด ชาตินิยม และ Hard Euroscepticism เช่น พรรค National Rally ในฝรั่งเศส ซึ่งนำโดยนาง Marine Le Pen และพรรค Northern League ในอิตาลี ของนาย Matteo Salvini เป็นต้น
 
โดยทั่วไป สภายุโรปมีอำนาจจำกัดในการบัญญัติกฎหมายของ EU และไม่มีอำนาจในการจัดตั้งรัฐบาล และคอยตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลเหมือนรัฐสภาทั่วไป แต่จะมีหน้าที่หลักในการบัญญัติกฎหมายของ EU ในระดับต่าง ๆ ตั้งแต่ในเรื่องการให้ความยินยอม เช่น เรื่องสิทธิของพลเมือง และการทำข้อตกลงกับต่างประเทศ ไปจนถึงการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เช่น นโยบายด้านการคุ้มครองผู้บริโภค มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม การอนุมัติร่างงบประมาณของ EU รวมทั้งทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมโยงกับประชาชน และยังมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายต่างประเทศของ EU และประเทศสมาชิกด้วย
 
การเลือกตั้งครั้งนี้ มีจุดเปลี่ยนที่สำคัญ คือ จะมีการปรับเปลี่ยนสัดส่วนที่นั่งในสภายุโรปให้ลดลงจาก 751 ที่นั่งเป็น 705 ที่นั่ง หาก Brexit มีผลในวันที่ 22 พฤษภาคม 2562 ภายหลังจากขอขยายเวลาออกไปจากวันที่ 29 มีนาคม 2562 ส่งผลให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนจำนวนที่นั่งของสมาชิกสภายุโรปจากแต่ละประเทศสมาชิก อย่างไรก็ดี คงต้องคอยลุ้นติดตามความชัดเจนเกี่ยวกับเรื่อง Brexit ต่อไป
 
สำหรับเรื่องที่ว่า การเลือกตั้งสภายุโรปครั้งนี้ จะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรกับ EU หรือไม่อย่างไรนั้น จะขอกล่าวอย่างสั้น ๆ 2 ประการ
 
ประการแรก การเลือกตั้งครั้งนี้ เชื่อว่า กลุ่มการเมืองฝ่ายขวา และฝ่าย Euroscepticism หรือกลุ่มการเมืองที่ไม่เห็นด้วยกับการรวมตัวของ EU และเห็นว่า EU ก้าวก่ายกิจการภายในและอำนาจอธิปไตยของประเทศตน น่าจะได้รับที่นั่งเพิ่มขึ้นแนวโน้มที่ผ่านมา ได้แสดงถึงความนิยมในพรรคการเมืองสาย Euroscepticism และพรรคฝ่ายขวาใน
ยุโรปมีเพิ่มมากขึ้น เช่น ในอิตาลี พรรค Northern League ของนาย Matteo Salvini ได้รับความนิยมและได้จัดตั้งรัฐบาลจากการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2561 ขณะที่ในฝรั่งเศส ความนิยมในอุดมการณ์ของพรรคNational Rally ของนาง Le Pen ได้เพิ่มขึ้น สวนทางกับกระแสคะแนนนิยมของพรรคฝ่ายขวากลางอย่างพรรค
REM ของประธานาธิบดี Macron ที่ได้ลดลงจากเหตุการณ์ภายในประเทศ เช่น การประท้วงของกลุ่มเสื้อกั๊กเหลือง ส่วนในเยอรมนี ก็ได้เห็นการ “ขึ้น” ของฝ่ายพรรคฝ่ายขวา เช่น พรรค AfD ภายหลังการออกนโยบายรับผู้อพยพของรัฐบาล
 
จากสถานการณ์ดังกล่าว อาจคาดเดาได้ว่า ผู้ลงคะแนนเสียงในยุโรปน่าจะเทคะแนนให้กับผู้สมัครสังกัดกลุ่มการเมืองที่มีอุดมการณ์ฝ่ายขวาและสาย Euroscepticism มากขึ้นในช่วงการเลือกตั้งที่จะถึงนี้
 
สิ่งที่คนทั่วไปต้องการจะเห็นต่อไปก็คือ ผู้สมัครจากกลุ่มการเมืองเหล่านี้จะสามารถมารวมกันเป็นกลุ่มก้อนได้อย่างเหนียวแน่นขึ้นในสภายุโรปอย่างไร และกลุ่มผู้สมัครที่มีอุดมการณ์เกี่ยวกับ Euroscepticism ที่บางส่วนยังคงสังกัดอยู่ภายใต้ร่มเงาของพรรคที่มีอุดมการณ์แบบ Christian Democracy บ้าง พรรค Socialists บ้าง เช่น พรรค Fidesz ของประธานาธิบดีฮังการี ซึ่งไม่เห็นด้วยกับนโยบายผู้อพยพของ EU จะแยกตัวออกมา และ/หรือมีบทบาทเพิ่มขึ้น ในสภายุโรปอย่างไร
 
จากผลโพลที่ออกมาล่าสุดของ Politco Europe แสดงให้เห็นว่า กลุ่มเมล็ดพันธุ์สาย Euroscepticism และกลุ่มขวาจัด เช่น กลุ่ม Europe of Nations and Freedom (ENF) มีแนวโน้มได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นจาก 37 ที่นั่ง เป็น 61 ที่นั่ง และมีแนวโน้มว่า กลุ่ม Five Stars Movement’s Group ซึ่งเป็นพรรคขวาจัดอีกเช่นกันจากอิตาลี แต่เน้นนโยบาย Populism มีแนวโน้มจะได้ที่นั่งรวม 26 ที่นั่ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า สภายุโรปจะแบ่งแยกกันมากขึ้น กลุ่มใหม่ ๆ จะมีสิทธิมีเสียงมากขึ้นกว่าเดิม
 
แม้กลุ่มการเมืองสาย Euroscepticism และกลุ่มขวาจัดอาจจะได้รับที่นั่งจากการเลือกตั้งน้อยกว่า โดยอาจมีจำนวนร้อยละ 20 ของสมาชิกสภายุโรป ส่วนกลุ่มการเมืองเดิมเช่น EPP และ S&D หากรวมกันแล้ว แม้จะเกินร้อยละ 50 ของสมาชิกสภาพยุโรป แต่เชื่อว่า การต่อสู้ในเรื่องนโยบายเกี่ยวกับเรื่องผู้อพยพ ผู้ลี้ภัยและความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมในสภายุโรปจะเข้มข้นขึ้น
 
จากเดิมที่ผ่านมา กลุ่ม EPP และ S&D ซึ่งเป็นกลุ่มพรรคการเมืองแบบขวากลางและซ้ายกลาง ได้มีนโยบายสนับสนุนการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้อพยพและผู้ลี้ภัย การคุ้มครองสิทธิแรงงานของผู้อพยพและการจัดสรรโควตาผู้ลี้ภัยไปยังประเทศสมาชิกของ EU แต่กลุ่ม Euroscepticism และกลุ่มการเมืองแบบขวาอื่น ๆ เช่น กลุ่ม European Conservative and Reformist (ECR) กลับมีแนวคิดตรงกันข้ามโดยปฏิเสธนโยบายดังกล่าว และให้สนับสนุนแนวคิดเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยของแต่ละประเทศ และ
การลดจำนวนของผู้อพยพ
 
ประการที่สอง การเลือกข้างจากฟากนโยบายและอุดมการณ์ที่ต่างกันอย่างชัดเจนในสภายุโรป นอกจากจะส่งผลให้การกำหนดนโยบายในภาพรวมที่สำคัญของ EU ได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วไปมากขึ้นแล้ว ยังส่งผลสำคัญต่อการแต่งตั้งของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการยุโรปและกรรมาธิการยุโรปในด้านต่าง ๆ ซึ่งมีหน้าที่ในการริเริ่มร่างข้อเสนอเพื่อบัญญัติให้เป็นกฎหมายและบริหารงานของ EU และจะมีการเปลี่ยนแปลงประธานและคณะกรรมาธิการยุโรปทั้งชุดด้วย
 
สำหรับการเลือกผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (President of the European Commission) นั้น ทางฟากฝั่งกลุ่มการเมืองต่าง ๆ ได้เสนอรายชื่อผู้ที่จะดำรงตำแหน่งดังกล่าว หรือที่เรียกว่า Sptizenkandidaten (Top Candidate) มาแล้ว เช่น กลุ่ม EPP เสนอชื่อนาย Manfred Weber ตัวแทนจากพรรค CDU ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากนายกรัฐมนตรีเยอรมนี แต่ไม่เคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองมาก่อน กลุ่ม S&D เสนอชื่อนาย Frans Timmermann ซึ่งเป็นรองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปคนที่ 1 และเคยเป็นอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศเนเธอร์แลนด์ กลุ่ม ALDE เสนอชื่อ นาย Guy Verhofstadt ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของเบลเยียม เป็นต้น ส่วนกลุ่ม ENF ยังไม่ได้เสนอรายชื่อ ทั้งนี้ หากกลุ่มการเมืองใดมีคะแนนสูงสุด ก็จะได้รับการคัดเลือกจากคณะมนตรียุโรป (European Council) ซึ่งเป็นการประชุมสุดยอดของผู้นำ EU
ในช่วงเดือนมิถุนายน 2562
 
ทั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ประธานคณะกรรมาธิการและคณะกรรมาธิการยุโรปนั้น มีบทบาทสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นตัวกลางระหว่างรัฐบาลประเทศสมาชิกซึ่งอาจมีความเห็นไม่สอดคล้องกัน โดยเฉพาะในช่วงที่ EU ยังคงเผชิญกับปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ ปัญหาผู้อพยพ ปัญหาผู้ก่อการร้าย ปัญหาอาชญากรรมทางไซเบอร์ และปัญหา Brexit และดูเหมือนจะมีบทบาทในด้านการต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะในท่ามกลางการขยายตัว และการแข่งขันทางเศรษฐกิจและการค้าของโลกที่เพิ่มมากขึ้น เช่น ปัญหา Trade wars ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ
 
ดังนั้น การเลือกประธานและคณะกรรมาธิการจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการเป็นผู้กำหนดทิศทางและแนวนโยบายของ EU ในภาพรวม และคงเหมือนการเมืองทั่วไป ที่พอได้รับเลือกตั้งแล้ว กลุ่มการเมืองก็ต้องการผลักดันแนวนโยบายของกลุ่มของตนไปใช้ในเชิงบริหาร สมการการเมืองสำหรับการเลือกตั้งสภายุโรป และการแต่งตั้งประธานและคณะกรรมาธิการจึงเป็นสมการเดียวกัน และตัวแปรสำคัญขึ้นอยู่กับจำนวนที่นั่งของแต่กลุ่มการเมือง
 
อย่างไรก็ดี โดยที่กลุ่มการเมืองฝ่ายขวามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และฝ่าย Pro-EU มีแนวโน้มลดลง จึงอาจจะเห็นความเป็นไปได้ที่จะมีการจับขั้วพันธมิตรทางการเมืองกันระหว่างกลุ่มขวากลาง ซ้ายกลาง Pro-EU กับกลุ่มฝ่ายซ้ายบางกลุ่มได้ เพื่อเพิ่มแนวร่วมในการออกเสียงลงคะแนน ซึ่งการจับขั้วกันในสภานี้ อาจส่งผลให้คณะกรรมาธิการบางคนมาจากกลุ่มฝ่ายซ้าย ซึ่งจะเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
 
สำหรับผลกระทบที่จะมีต่อประเทศไทยภายหลังการเลือกตั้งสภายุโรปนั้น เชื่อว่า หากกลุ่ม EPP กับ S&D ยังคงเป็นกลุ่มการเมืองที่ครองเสียงข้างมากในสภายุโรป และมีผู้แทนอยู่ในคณะกรรมาธิการยุโรป ก็เชื่อว่า นโยบายที่ส่งเสริมความเชื่อมโยงกับเอเชียและการส่งเสริมการจัดทำการค้าเสรีกับประเทศในเอเชีย รวมถึงไทย จะคงได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องตามยุทธศาสตร์ Global Strategy ของ EU ต่อไป และ EU จะยังคงผลักดันให้ประเทศที่สามดำเนินการตามประเด็นอันเป็นค่านิยมหลักของ EU อาทิ สิทธิมนุษยชน นิติธรรม และประชาธิปไตยต่อไป อย่างไรก็ดี ในเรื่องของการเจรจาการค้า หากกลุ่มการเมืองฝ่ายขวาและฝ่ายขวาจัดมีจำนวนที่นั่งในสภามากพอสมควร ก็อาจทำให้เงื่อนไขในการเจรจาดังกล่าวมีความเข้มข้นและซับซ้อนมากขึ้นได้ แม้ว่ากลุ่มดังกล่าวอาจจะมิได้มีเป้าหมายในการปฏิเสธการเจรจาการค้ากับประเทศที่สาม
 
ในด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคนั้น เชื่อว่า นโยบายของ EU ในด้านการสร้างกองกำลังทหารและการเพิ่มบทบาทในฐานะผู้เล่นหลักในเวทีโลกของ EU ซึ่งเป็นนโยบายด้านการต่างประเทศหลักของ EU ช่วงคณะกรรมาธิการชุดปัจจุบัน จะยังคงได้รับการสนับสนุนอยู่ต่อไป รวมทั้งการรักษาพลวัตความร่วมมือกับอาเซียน เช่น การผลักดันการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ การขอเข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit – EAS) และการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา
(ADMM-Plus) และการขอเข้าสังเกตการณ์กิจกรรมคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญของการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา (ADMM-Plus Experts’ Working Groups)
 
อีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ เรื่องการให้เงินทุนสนับสนุนเพื่อการพัฒนาและการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม รวมถึงการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้อพยพ ซึ่งเป็นหนึ่งในวาระที่ EU ให้ความสำคัญมาโดยตลอดนั้น อาจมีความซับซ้อนมากขึ้น เนื่องจากกลุ่มขวาจัด เช่น กลุ่ม ENF มีนโยบายที่จะไม่เพิ่มงบประมาณหรือเงินสนับสนุนความร่วมมือในด้านดังกล่าวอย่างชัดเจน และไม่สนับสนุนเรื่องการส่งเสริมสิทธิพื้นฐานและสวัสดิการของผู้อพยพ และไม่สนับสนุนการทำงานของหน่วยงานภาคประชาสังคม เพื่อช่วยเหลือผู้อพยพและผู้ขอลี้ภัย  นอกจากนี้ ปัจจุบันคณะมนตรียุโรปและสภายุโรปยังไม่สามารถมีมติเรื่องกรอบงบประมาณ 7 ปีข้างหน้าของ EU (ปี ค.ศ. 2021-2027) ได้ โดยคณะมนตรียุโรปจะต้องหาข้อตกลงต่อภายใต้คณะกรรมาธิการยุโรปและสมาชิกสภายุโรปชุดใหม่ในช่วงปลายปี 2562 ซึ่งในประเด็นนี้ อาจส่งผลต่อเงื่อนไขและจำนวนเงินที่ EU จะสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศต่าง ๆ รวมทั้งไทย ในอนาคตด้วย
 
**************************
กองสหภาพยุโรป
กรมยุโรป
25 มีนาคม 2562