ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม 2021 OSCE Asian Conference หัวข้อ “Common Responses to Emerging Challenges in Advancing Comprehensive Security” วันที่ ๒๐-๒๑ กันยายน ๒๕๖๔ ณ กรุงเวียนนา และผ่านระบบการประชุมทางไกล

ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม 2021 OSCE Asian Conference หัวข้อ “Common Responses to Emerging Challenges in Advancing Comprehensive Security” วันที่ ๒๐-๒๑ กันยายน ๒๕๖๔ ณ กรุงเวียนนา และผ่านระบบการประชุมทางไกล

วันที่นำเข้าข้อมูล 28 ก.ย. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 5,182 view

           เมื่อวันที่ ๒๐-๒๑ กันยายน ๒๕๖๔ ประเทศไทย ในฐานะประเทศหุ้นส่วนเพื่อความร่วมมือฝ่ายเอเชียขององค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (Organization for Security and Co-operation in Europe – OSCE) เป็นเจ้าภาพร่วมกับสาธารณรัฐแอลเบเนียจัดการประชุม 2021 OSCE Asian Conference ในหัวข้อ “Common Responses to Emerging Security Challenges in Advancing Comprehensive Security” เพื่ออภิปรายเกี่ยวกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ต่อการดำเนินภารกิจด้านความมั่นคงในภาพรวมใน 3 มิติตามความหมายของ OSCE ได้แก่ (1) มิติการเมือง-การทหาร (2) มิติเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม และ (3) มิติมนุษย์ พร้อมนำเสนอแนวทางในการรับมือข้อท้าทายด้านความมั่นคงใหม่ และการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงองค์รวมในช่วงหลังการแพร่ระบาดฯ ร่วมกัน
          การประชุม OSCE Asian Conference เป็นการประชุมระดับเอกอัครราชทูตประจำปี เพื่อหารือด้านนโยบายและความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างประเทศสมาชิก OSCE กับประเทศหุ้นส่วนฯ ฝ่ายเอเชียของ OSCE (อัฟกานิสถาน ออสเตรเลีย ญีปุ่น เกาหลีใต้ และไทย) ซึ่งจะหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ โดยในปี ๒๕๖๔ นี้ เป็นวาระของประเทศไทย ในการประชุมฯ มีผู้แทนจากประเทศสมาชิก OSCE ประเทศหุ้นส่วนฯ ทั้งฝ่ายเอเชียและฝ่ายเมดิเตอร์เรเนียน องค์การระหว่างประเทศ หน่วยงานภาครัฐ และภาควิชาการ ลงทะเบียนเข้าร่วมกว่า ๑๗๐ คน โดยคณะผู้แทนฝ่ายไทยนำโดย (๑) นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (๒) นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศและเอกอัครราชทูต (๓) นางจุฬามณี ชาติสุวรรณ อธิบดีกรมยุโรป (๔) นางวิลาวรรณ มังคละธนะกุล อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย (๕) นางสาวมรกต ศรีสวัสดิ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเวียนนา และ (๖) ดร. อัมพร หมาดเด็น ผู้แทนไทยในเครือข่าย ASEAN Women for Peace Registry (AWPR)
          ในช่วงพิธีเปิด รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวถ้อยแถลงเปิดการประชุมฯ พร้อมด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแอลเบเนียและสวีเดน เลขาธิการ OSCE และเลขาธิการอาเซียน โดยย้ำถึงความสำคัญของการดำเนินนโยบายเพื่อรับมือกับความท้าทายด้านความมั่นคงที่มี “คน” เป็นศูนย์กลาง ควบคู่กับการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมหลังวิกฤตโควิด-๑๙ ที่เน้นสร้างความร่วมมือให้มากขึ้น ลดความขัดแย้งและการเผชิญหน้าของทุกฝ่าย ตลอดจนการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภูมิภาค ในฐานะปัจจัยสำคัญในการเสริมสร้างสันติภาพ ความมั่นคง และความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศ
          การประชุม 2021 OSCE Asian Conference ในครั้งนี้ นับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โดยประเทศไทยได้ใช้โอกาสที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ ในการประชาสัมพันธ์บทบาทและการดำเนินงานด้านความมั่นคงที่โดดเด่นของไทยซึ่งให้ความสำคัญกับ “คน” ในทุกมิติ และในฐานะประเทศสมาชิกอาเซียนเดียวที่มีบทบาทใน OSCE ในฐานะประเทศหุ้นส่วนฯ ฝ่ายเอเชีย ไทยได้แสดงให้เป็นที่ประจักษ์ถึงบทบาทของไทยในการเป็นสะพานเชื่อมระหว่างอาเซียนกับ OSCE อย่างเป็นรูปธรรมผ่านการเชิญเลขาธิการอาเซียนและผู้แทนจาก AWPR มาเข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และองค์ความรู้ในระหว่างการประชุมฯ ด้วย

* * * * * * *

กรมยุโรป
กองสหภาพยุโรป
กันยายน 2564

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ