แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบขนส่งอัจฉริยะอย่างยั่งยืนฉบับใหม่ของสหภาพยุโรป (EU Strategy on Sustainable and Smart Mobility)

แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบขนส่งอัจฉริยะอย่างยั่งยืนฉบับใหม่ของสหภาพยุโรป (EU Strategy on Sustainable and Smart Mobility)

วันที่นำเข้าข้อมูล 18 ธ.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 2,154 view

ในปัจจุบัน ภาคการขนส่งเป็นตัวการสำคัญในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลก โดยก๊าซเรือนกระจกในทวีปยุโรป ราว 1 ใน 4 มาจากภาคขนส่งซึ่งยังต้องใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเป็นพลังงานหลัก ดังนั้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของสหภาพยุโรปตามแผนนโยบาย Green Deal ที่ต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050) สหภาพยุโรปจึงเร่งผลักดันให้มีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ที่เกิดจากภาคการขนส่ง ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ และทางราง ให้ได้ร้อยละ 90 ภายในปี 2593

เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2563 คณะกรรมาธิการยุโรปได้ประกาศแผนยุทธศาสตร์ฉบับใหม่ที่จะช่วย
การปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยใช้ชื่อว่า “การพัฒนาระบบขนส่งอัจฉริยะอย่างยั่งยืน” (EU Strategy on Sustainable and Smart Mobility) โดยมุ่งเน้นการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งที่ทันสมัย ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ ราคาไม่แพง และประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้ รวมถึงต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ยุทธศาสตร์ฉบับนี้เป็นกรอบการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบขนส่งที่ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในระยะสั้น 10-15 ปี และระยะยาว 30 ปีข้างหน้า โดยการลดปัจจัยต่างๆที่ทำให้เกิดสภาวะโลกร้อน และกระตุ้นให้ผู้ผลิตพัฒนาสินค้าที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ควบคู่ไปกับการผลักดันให้เกิดลงทุน
ที่มุ่งเน้นความยั่งยืนในระยะยาว (sustainable investment) เช่น การลงทุนที่เกี่ยวข้องกับแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นการปรับแผนรับการเปลี่ยนแปลงของทั้งเศรษฐกิจจากโรคโควิด-19 การสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การปรับตัวให้สอดรับกับเทคโนโลยีใหม่ เช่น พลังงานทดแทน ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เทคโนโลยีดิจิทัลหรือ 5G และนวัตกรรม ตลอดจนปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงธุรกิจภาคการขนส่ง
เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนให้กับสังคม ดังนั้น การจัดทำแผนยุทธศาสตร์จะทำให้เห็นภาพว่า การบริการด้านการขนส่งทางบก ทางราง ทางนํ้า และทางอากาศในภูมิภาคยุโรปจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวอย่างไร โดยยุทธศาสตร์ข้างต้นจะแบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้

  1. ระยะ 10 ปี (ภายในปี 2573) ได้แก่

1.1 รถที่วิ่งบนท้องถนนในภูมิภาคยุโรปอย่างน้อย 30 ล้านคันจะเป็นรถปลอดมลพิษ (Zero-emission Vehicle)

1.2 เพิ่มสัดส่วนเมืองปลอดควันพิษในภูมิภาคยุโรปเป็น 100 เมือง

1.3 เพิ่มสัดส่วนรถไฟความเร็วสูงในภูมิภาคยุโรปเป็น 2 เท่าตัว

1.4 การเดินทางสัญจรในระยะทางไม่เกิน 500 กิโลเมตร ต้องมาจากระบบขนส่งที่ปลอดมลพิษ

1.5 ส่งเสริมให้มีการใช้รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ (automated mobility) อย่างแพร่หลาย

1.6 สนับสนุนให้มีการพัฒนาเรือที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษให้พร้อมวางจำหน่าย

  1. ระยะ 15 ปี (ภายในปี 2578)

ส่งเสริมให้มีการพัฒนาเครื่องบินขนาดใหญ่ที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษให้พร้อมวางจำหน่าย

  1. ระยะ 30 ปี (ภายในปี 2593)

3.1 กำหนดให้รถยนต์ รถตู้ รถบัส และรถบรรทุกหนักที่วิ่งบนท้องถนนในภูมิภาคยุโรปเกือบทุกคันเป็นยานยนต์ที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ

3.2 เพิ่มสัดส่วนการขนส่งสินค้าทางรถไฟเป็น 2 เท่าตัว

3.2 ส่งเสริมการเชื่อมต่อระบบโครงข่ายการขนส่งความเร็วสูงต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Trans-European Transport Network (TEN-T) ให้มีคุณภาพและยั่งยืน และพร้อมเปิดให้บริการแก่ประชาชนในราคาไม่แพง

นอกจากนี้ ยุทธศาสตร์ดังกล่าวยังระบุโครงการริเริ่มทั้งหมด 82 โครงการใน 10 ประเด็นสำคัญสำหรับการดำเนินการ โดยแต่ละมาตรการมีความเป็นรูปธรรมในทางทางปฏิบัติ เช่น

(1) การเพิ่มการเดินทางโดยใช้จักรยานเพื่อลดการใช้รถยนต์ โดยการสร้างช่องทางจักรยานในเมืองหลวง และในชุมชนอย่างน้อย 5,000 กิโลเมตร

(2) การเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ที่ใช้พลังงานสะอาดให้มากขึ้น เช่น พลังงานแบตเตอรี่ (BEV) หรือรถพลังงานไฮโดรเจน เพื่อลดมลพิษที่เกิดจากการขนส่งด้วยน้ำมันเบนซินหรือดีเซล และการสร้างจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าและสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าทั่วภูมิภาคยุโรปแม้ในพื้นที่ห่างไกล ตลอดจนการกำหนดมาตรฐานการปล่อยสารมลพิษ post-Euro 6 ในปี 2564 และการปรับปรุงระบบตรวจวัด CO2 เพื่อผลักดันโซลูชั่นด้านระบบขนส่ง
ที่ประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงมากยิ่งขึ้น

(3) การปฏิรูปการขนส่งสินค้าจากทางถนนเป็นระบบราง เช่น การเก็บภาษีรถบรรทุกขนาดใหญ่ตามอัตราการปล่อย CO2 หรือการพัฒนารถไฟสินค้าเชื่อมต่อระหว่างเมือง และการแก้ไขกฎระเบียบเกี่ยวกับการจองตั๋ว รวมถึงการสร้าง mobile application เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางต่อเนื่องกับระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ เช่น รถแทรม รถไฟใต้ดิน รถแท็กซี่และรสบัส รวมถึงขยายบริการรถไฟตู้นอนข้ามคืน
ในประเทศยุโรป

(4) การส่งเสริมการขนส่งทางอากาศที่ใช้พลังงานสะอาดและพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลน้อยที่สุด 
(Green aviation)
 เช่น จูงใจให้เกิดการลงทุนในการพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องบินที่ใช้พลังงานไฮโดรเจน
และการพัฒนา AI เพื่อนำมาใช้งานในภาคขนส่งและโลจิสติกส์

(5) การกำหนดราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) เช่น การใช้ระบบซื้อขายใบอนุญาต
ปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading Scheme: ETS) สำหรับการขนส่งทางเรือ และทางถนน รวมทั้ง
การเปิดเผยข้อมูลการวัดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่าง ๆ (carbon footprint)
เพื่อแสดงให้ผู้โดยสารเห็นว่าการเดินทางเที่ยวนั้นๆเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ และเพิ่มมาตรการทางภาษี
เพื่อส่งเสริมการลดมลพิษในภาคขนส่งทางน้ำ

***********

 

ที่มา:  https://ec.europa.eu/commission/presscorner/detail/en/ip_20_2329

https://ec.europa.eu/commission/presscorner/detail/en/speech_20_2370

Credit ภาพปก https://blog.csiro.au/solar-powered-electric-vehicles-cars-charged/

ขอขอบคุณทีมงาน Thaieurope.net

car

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ