ทิศทางสหภาพยุโรป (EU) ผ่านรายงานการคาดการณ์เชิงกลยุทธ์ประจำปี ค.ศ. ๒๐๒๒ (2022 Strategic Foresight Report)

ทิศทางสหภาพยุโรป (EU) ผ่านรายงานการคาดการณ์เชิงกลยุทธ์ประจำปี ค.ศ. ๒๐๒๒ (2022 Strategic Foresight Report)

วันที่นำเข้าข้อมูล 19 ส.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 23 ส.ค. 2565

| 1,749 view

              ตั้งแต่คณะกรรมาธิการยุโรปชุดปัจจุบันได้เริ่มวาระการบริหารงานในช่วงปลายปี ค.ศ. ๒๐๑๙ ผู้นำชาติ EU และสมาชิกสภายุโรป พร้อมด้วยนาง Ursula von der Leyen ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปได้หารือเกี่ยวกับข้อท้าทายต่าง ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อ EU อาทิ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เทคโนโลยีสมัยใหม่ และการเกิดขึ้นของขั้วอำนาจใหม่ รวมไปถึงปัญหาความมั่นคงทางพลังงาน จนนำไปสู่มติของที่ประชุมผู้นำ EU ให้จัดทำวาระเชิงกลยุทธ์ ปี ค.ศ. ๒๐๑๙-๒๐๒๔ (Strategic Agenda for 2019-2024) เพื่อเป็นแนวทางในการวางนโยบายและแผนงานของ EU ในด้านต่าง ๆ ที่ครอบคลุมประเด็นการปกป้องพลเมืองและเสรีภาพ การพัฒนารากฐานทางเศรษฐกิจให้เข้มแข็ง การสร้างยุโรปที่เน้นการพัฒนาด้านสังคม มีความเป็นธรรม เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีความเป็นกลางทางสภาพภูมิอากาศ (climate neutral) ตลอดจนผลประโยชน์และค่านิยมของ EU ในเวทีโลก

               ทุกปี EU จะจัดทำรายงานการคาดการณ์เชิงกลยุทธ์ (Strategic Foresight Report) เพื่อประเมินการดำเนินงานตามวาระเชิงกลยุทธ์ที่เป็นเป้าหมายระยะ ๕ ปีข้างต้น โดยจะคาดการณ์ความเป็นไปได้ ปัจจัยเสี่ยง ตลอดจนประเด็นปัญหาที่
จะเกิดขึ้นในอนาคต ควบคู่กับการนำเสนอโอกาสและข้อท้าทายที่ EU เผชิญในปีนั้น ๆ เพื่อให้การทำงานของ EU ยังคงเป็นไปตามนโยบายหลักที่วางไว้

              รายงานฯ ฉบับแรกจัดทำขึ้นในปี ค.ศ. ๒๐๒๐ (2020 Strategic Foresight Report) ภายใต้หัวข้อ “Charting the Course Towards a More Resilient Europe” โดยมุ่งสร้างความต้านทานและเข้มแข็งภายใต้สถานการณ์บีบบังคับของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เผยให้เห็นทั้งความเปราะบางและขีดความสามารถของ EU โดยแบ่งออกเป็น ๔ มิติ ได้แก่ ๑) สังคมและเศรษฐกิจ ๒) ภูมิรัฐศาสตร์ ๓) สิ่งแวดล้อม และ ๔) ดิจิทัล

              ส่วนรายงานฯ ฉบับปี ค.ศ. ๒๐๒๑ (2021 Strategic Foresight Report) ภายใต้หัวข้อ “The EU’s Capacity and Freedom to Act” จัดทำในบริบทการฟื้นฟูหลังโควิด-19 โดยนำเสนอเกี่ยวกับขีดความสามารถและความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ของ EU โดยลดการพึ่งพาและไม่ขึ้นต่อปัจจัยภายนอก เพื่อรับมือกับความท้าทายด้านสภาพภูมิอากาศ เทคโนโลยี การถดถอยทางการเมืองประชาธิปไตย และระเบียบโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง

              รายงานฯ ฉบับล่าสุด ปี ค.ศ. ๒๐๒๒ (2022 Strategic Foresight Report) จัดทำในหัวข้อ “Twinning the Green and Digital Transition in the New Geopolitical Context” สะท้อนภาพความสูญเสียและผลกระทบของสถานการณ์ในยูเครนต่อกิจการของ EU ในแทบทุกด้าน และได้นำเสนอแนวโน้มในอนาคตของการดำเนินการแบบสอดประสานและส่งเสริมซึ่งกันและกัน (“twinning”) ระหว่างการเปลี่ยนผ่านสีเขียว (green transition) กับการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล (digital transition) โดย EU ได้มองวิกฤตเป็นโอกาสว่า การที่สถานการณ์ในยูเครนทำให้ราคาพลังงานและอาหารเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น เป็นการตอกย้ำถึงความสำคัญของการเร่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านทั้งสองส่วนนี้ของ EU ซึ่งจะช่วยลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียถึงร้อยละ ๓๕ นอกจากนี้ ยังจะช่วยให้ระบบเศรษฐกิจมีความยั่งยืนเพิ่มมากขึ้น หาก EU สามารถทำได้ ก็มีโอกาสที่จะขึ้นมาเป็นผู้นำการกำหนดมาตรฐานโลกในด้านดังกล่าว

               นอกจากนี้ จากข้อมูลในรายงานฯ ปี ค.ศ. ๒๐๒๒ EU มองว่า การเร่งรัดกระบวนการเปลี่ยนผ่านคู่ขนานเป็นการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและความสามารถในการพึ่งพาตนเองให้กับ EU ด้วย กล่าวคือ การเปลี่ยนผ่านสีเขียวจะช่วยวางรากฐานให้ทิศทางการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลคำนึงถึงความยั่งยืนมากขึ้น เช่น การมุ่งเน้นการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานสะอาดในภาคดิจิทัล ในขณะเดียวกัน เทคโนโลยีดิจิทัลก็จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางสภาพภูมิอากาศในปี ค.ศ. ๒๐๕๐ ด้วย เช่น การส่งเสริมการใช้แบตเตอรี่รุ่นใหม่ที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะ การเพิ่มทางเลือกของการเดินทางที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน การใช้เทคโนโลยีคำนวณการใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรม การออกแบบอาคารและผังเมืองให้รองรับการใช้พลังงานทางเลือก การทำการเกษตรและฟาร์มอัจฉริยะเพื่อลดการใช้น้ำ พลังงาน และสารเคมี ตลอดจนการฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพผ่านการวิเคราะห์ ตรวจสอบ และจัดเก็บข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

               สำหรับการเตรียมการเพื่อก้าวไปสู่ปี ค.ศ. ๒๐๕๐ ได้มีการระบุแนวทางการดำเนินงานของ EU ไว้ใน 2022 Strategic Foresight Report ว่า EU จำเป็นต้องเสริมสร้างความต้านทานและเข้มแข็งและความสามารถในการพึ่งพาตนเอง เพื่อให้พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตในทุก ๆ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนผ่านแบบคู่ขนาน โดยเฉพาะเพื่อการคงไว้ซึ่งประสิทธิภาพของความเป็นตลาดเดียว (single market) ของ EU การบริหารจัดการอุปทานของสินค้าสำคัญอย่างเป็นระบบ การพัฒนากรอบการกำหนดมาตรฐาน ความเป็นอยู่ที่ครอบคลุมด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนต้องสนับสนุนการดำเนินงานด้านการทูตสีเขียวและการทูตดิจิทัลควบคู่กันไปด้วย นอกจากนี้ EU ควรสนับสนุนการลงทุนด้านเทคโนโลยี และโครงสร้างพื้นฐานและความเชื่อมโยงระหว่างระบบเศรษฐกิจและสังคมให้แข็งแกร่งขึ้น รวมถึงการส่งเสริมความมั่นคงทางไซเบอร์

                คงต้องติดตามกันต่อไปในกิจกรรม วันที่ ๑๗-๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ (ค.ศ. ๒๐๒๒) ที่คณะกรรมาธิการยุโรปจะจัดการประชุม European Strategy and Political Analysis System (ESPAS) ประจำปี เพื่อหารือเรื่องข้อสรุปของการดำเนินงานตามรายงาน 2022 Strategic Foresight ว่าจะมีผลเป็นอย่างไร และคาดว่าจะมีการหารือเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการออกรายงาน Strategic Foresight ฉบับปี ค.ศ. ๒๐๒๓ ต่อไปด้วย

*******

สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://ec.europa.eu/info/strategy/strategic-planning/strategic-foresight_en

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ