สหภาพยุโรปเสนอร่างกฎหมายดิจิทัลใหม่ 2 ฉบับ ป้องกันการผูกขาดบริการออนไลน์

สหภาพยุโรปเสนอร่างกฎหมายดิจิทัลใหม่ 2 ฉบับ ป้องกันการผูกขาดบริการออนไลน์

วันที่นำเข้าข้อมูล 23 ธ.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 2,067 view

เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา นาง Margrethe Vestager รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปและกรรมาธิการยุโรปด้านการแข่งขัน ร่วมกับนาย Thierry Breton กรรมาธิการยุโรปด้านตลาดภายใน ได้จัดการแถลงข่าวเรื่องร่างกฎหมายการให้บริการดิจิทัล (Digital Services Act) และร่างกฎหมายการตลาดดิจิทัล (Digital Market Act) เพื่อควบคุมธุรกิจบนดิจิทัลแพลตฟอร์ม อาทิ สื่อโซเชียล ตลาดออนไลน์ และบริการออนไลน์อื่น ๆ ในสหภาพยุโรป ให้โปร่งใส เป็นธรรม และสามารถตรวจสอบได้ เพื่อป้องกันการผูกขาดบริการออนไลน์ ปกป้องผู้บริโภค และสิทธิพื้นฐานของประชาชนสหภาพยุโรป ซึ่งนาย Thierry คาดว่า อาจสามารถผ่านร่างกฎหมายเร็วที่สุดในช่วงต้นปี 2564 และจะสามารถเริ่มใช้กฎหมายใหม่ได้ภายใน 3 เดือนและภายใน 6 เดือนตามลําดับ

ร่างกฎหมายใหม่นี้เป็นการปฏิรูปกฎระเบียบควบคุมธุรกิจออนไลน์ของสหภาพยุโรปภายในรอบ 20 ปี เนื่องจาก กฎหมาย E-Commerce ฉบับปัจจุบันเริ่มใช้มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 (Directive 2000/31/EC on E-commerce) ซึ่งมีความล้าหลังและตามการเปลี่ยนแปลงของโลกออนไลน์ไม่ทัน โดยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมานี้ มีธุรกิจออนไลน์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา รวมถึงบริการบนดิจิทัลแพลตฟอร์มที่มีความหลากหลายมากขึ้น สหภาพยุโรปจึงต้องการออกกฎระเบียบดิจิทัลใหม่ที่สามารถควบคุมการให้บริการและตลาดดิจิทัลที่ทันสมัย ดังนี้

1) กฎหมายการให้บริการดิจิทัล (Digital Services Act (DSA)) จะมีบทบาทในการควบคุมให้แพลตฟอร์มออนไลน์นั้นปลอดภัยสําหรับผู้ใช้ โดยการออกข้อปฏิบัติและเสนอเครื่องมือในการลงโทษผู้ฝ่าฝืนกฎฯ ซึ่ง DSA เปรียบเสมือนไฟจราจรที่ควบคุมถนนบนโลกออนไลน์ให้ปลอดภัยสําหรับผู้ใช้ถนนดิจิทัลทุกคน หากมีการละเมิดกฎฯ ก็จะโดนสหภาพยุโรปลงโทษ ซึ่งสหภาพยุโรปจะดําเนินการ (1) เพิ่มความปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้ โดยการกําหนดให้ผู้ให้บริการมีหน้าที่และความรับผิดชอบต่อผู้ใช้มากขึ้น เช่น ต้องมีการตรวจสอบเพื่อยืนยันตัวตนของผู้ขายออนไลน์ และต้องมีเครื่องมือในการตรวจสอบและลบข้อมูลที่ไม่เหมาะสม/ข้อมูลที่มีการบิดเบือนความจริงออกทันที โดยผู้ให้บริการต้องให้เหตุผลในการลบข้อมูลนั้นออกแก่ผู้ใช้ด้วย(2) เพิ่มความโปร่งใสในการทํางานของแพลตฟอร์ม โดยผู้ให้บริการต้องอธิบายอัลกอริทึม (algorithms) ของแพลตฟอร์ม เพื่อแจ้งผู้ใช้ถึงที่มาที่ไปของผลการค้นหาออนไลน์ และ (3) เพิ่มความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎระเบียบมากขึ้น โดยสหภาพยุโรปเสนอให้ใช้กฎระเบียบนี้ ภายใต้หลักการตลาดเดียวของสหภาพยุโรปและเสนอมาตรการลงโทษผู้ฝ่าฝืนกฏฯ

2) กฎระเบียบด้านการตลาดดิจิทัล (Digital Market Act (DMA)) จะมีหน้าที่ในการควบคุมบริษัท ออนไลน์ยักษ์ใหญ่ (Gatekeeper) หรือ บริษัทที่เป็นผู้คุมประตูระหว่างผู้ใช้กับผู้ให้บริการจํานวนมาก ยกตัวอย่างเช่น บริษัท Google บริษัท Amazon และบริษัท Booking.com ซึ่งอยู่ในตําแหน่งเป็น Gatekeeper ในตลาดออนไลน์ของสหภาพยุโรป และได้ถูกร้องเรียนอย่างหนาหูเรื่องการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม สหภาพยุโรปจึงเสนอ DMA เพื่อป้องกันการผูกขาดบริการออนไลน์และส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม โดยเฉพาะสนับสนุนให้บริษัท Start-up มีโอกาสแข่งขันในตลาดออนไลน์ โดยสหภาพยุโรปได้เสนอเกณฑ์ในการกําหนด Gatekeeper อาทิ รายได้และขนาดของบริษัท และกําหนดภาระหน้าที่ให้ Gatekeeper ต้องปฏิบัติตาม เช่น (1) ห้ามนําข้อมูลการใช้บริการของผู้ใช้แพลตฟอร์มของ Gatekeeper ไปใช้ประโยชน์เพื่อแข่งขันของกับบริษัทคู่แข่ง (2) เพิ่มความสามารถในการทํางานร่วมกันของแพลตฟอร์มต่าง ๆ (interoperability) โดยบริษัทจะต้องพัฒนาบริการที่รองรับการใช้งานบนอุปกรณ์/แพลตฟอร์มชนิดอื่น ๆ ด้วย (3) ต้องมีความเป็นธรรมในการแสดงตัวเลือกจากบริษัทคู่แข่งบนแพลตฟอร์มของตนเอง เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเลือกผู้ให้บริการตามความพอใจไม่ใช่จากการบิดเบือนผลการค้นหา โดยสหภาพยุโรปจะมีมาตรการในการปรับเงินบริษัทที่ละเมิดกฎฯ อาจสูงถึง 10% จากรายได้จากทั่วโลกของบริษัท Gatekeeper ซึ่งหากมีการกระทําผิดซ้ำ สหภาพยุโรปอาจเสนอมาตรการลงโทษอื่น ๆ เพิ่มเติม

สหภาพยุโรปมองว่าแพลตฟอร์มออนไลน์ที่สามารถเข้าถึงผู้ใช้จํานวน 45 ล้านคน (10% ของประชากรสหภาพยุโรป) ควรมีภาระหน้าที่ในการปกป้องผู้ใช้บริการ เพื่อให้ผู้ใช้สามารถใช้บริการออนไลน์ได้อย่างปลอดภัยและมีสิทธิในการเลือกใช้บริการอย่างเป็นธรรม เช่น การซื้อสินค้าออนไลน์ควรจะเป็นสินค้าที่ปลอดภัยและได้มาตรฐานสหภาพยุโรปเช่นเดียวกับการซื้อสินค้าจากร้านค้าทั่วไป เป็นต้น

สุดท้ายนี้ ร่างกฎหมาย DSA ยังสอดคล้องกับแผนปฏิบัติด้านประชาธิปไตยของสหภาพยุโรป (EU Democracy Action Plan) ในมิติของการส่งเสริมประชาธิปไตยและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนในสหภาพยุโรป อาทิ การต่อต้านข่าวปลอม และการส่งเสริมเสรีภาพของสื่อ ซึ่งเมื่อกฎหมาย DSA มีผลบังคับใช้ ผู้ให้บริการออนไลน์จะมีภาระหน้าที่ในการควบคุมการเผยแพร่ข่าวเท็จและ hate speech ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้บริการ ซึ่งสะท้อนนโยบายของสหภาพยุโรปที่มักเชื่อมโยงเรื่องเศรษฐกิจกับการปกป้องคํานิยมของสหภาพยุโรป เช่น สิทธิความเป็นส่วนตัว เสรีภาพในการแสดงออก การคุ้มครองผู้บริโภค และการแข่งขันที่เท่าเทียม เป็นต้น


ที่มา:

https://ec.europa.eu/commission/presscorner/detail/en/statement_20_2450
https://ec.europa.eu/commission/presscorer/detail/en/ip_20_2347
https://ec.europa.eu/commission/presscomer/detail/en/ip_20_2250

(Credit รูปภาพปก: https://ifex.org/whats-good-and-whats-worrying-in-the-eus-draft-digital-services-act-and-digital-markets-act/)