วันที่นำเข้าข้อมูล 9 ธ.ค. 2563
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 26 พ.ย. 2565
เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2563 คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปได้ออกข้อมติเรื่องสิทธิมนุษยชนและการจ้างงานที่มีคุณค่าในห่วงโซ่การผลิตโลก (Council Conclusions on Human Rights and Decent Work in Global Supply Chain) มอบหมายให้คณะกรรมาธิการยุโรปจัดทำร่างกฎมายใหม่เกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการ
อย่างยั่งยืน (Corporate due diligence) ซึ่งวางกลไกให้ภาคเอกชนสหภาพยุโรปตรวจสอบห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) และเครือข่ายการผลิตของตนในด้านสิทธิมนุษยชน และความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม
เพื่อเสนอเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปและสภายุโรปภายในปี 2564
โดยการจัดทำร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางขับเคลื่อนโลกหลัง COVID-19 ของสหภาพยุโรป และแผนงาน European Green Deal ซึ่งมุ่งเน้นการร่วมมือกันเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมโลกบนพื้นฐานของเศรษฐกิจสีเขียวที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นตัวขับเคลื่อน และสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
สาระสำคัญของกฎหมายที่จะตราขึ้นนี้ คือ การกำหนดให้ภาคธุรกิจสหภาพยุโรปรวมถึงบริษัทต่าง ๆ
ทั่วโลกที่ทำธุรกิจกับสหภาพยุโรปต้องทำการตรวจสอบ Supply Chain ของตนอย่างเป็นรูปธรรม โดยคำนึงถึงความเสี่ยงของการดำเนินธุรกิจที่จะส่งผลกระทบต่อการเคารพสิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม ตลอดจนผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องในทุกกลุ่ม อาทิ ผู้ถือหุ้น พนักงาน ลูกค้า ผู้ส่งมอบ ชุมชนท้องถิ่น และสังคมโดยรวม และทำการรายงานผลควบคู่ไปกับเรื่องการดูแลและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินธุรกิจอยู่ภายใต้กรอบของ
ธรรมาภิบาลที่ดี มีความโปร่งใส และสามารถตรวจสอบระหว่างกันได้อย่างเหมาะสม
ความเป็นมาในการตรวจสอบสถานะด้านสิทธิมนุษยชนของภาคธุรกิจสหภาพยุโรป
เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ผู้ประกอบการทั่วโลกต้องหันมาทบทวนการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานของตนเองเสียใหม่ให้มีความแข็งแกร่งและสามารถจัดการความเสี่ยง
โดยการแสวงหาแหล่งผลิตที่กระจายออกไปมากขึ้น วิกฤตในครั้งนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของสถานการณ์แรงงานในระบบห่วงโซ่การผลิตโลก อาทิ ปัญหาแรงงานถูกเอารัดเอาเปรียบ หรือการใช้แรงงานเด็กและผู้หญิงที่ไม่เป็นธรรม จากสาเหตุดังกล่าวทำให้ภาคประชาสังคมเรียกร้องให้สหภาพยุโรปและชาติสมาชิก
ให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าวมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการเคารพสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม โดยไม่ปล่อยให้ผลกำไรหรือขาดทุนเป็นตัวกำหนดทิศทางของการดำเนินธุรกิจอย่างที่เคยเป็น
เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป
สถานการณ์ดังกล่าวได้นำไปสู่การพยายามในการกำหนดความรับผิดชอบของธุรกิจในการเคารพสิทธิมนุษยชนที่มีความเข้มข้นมากขึ้น ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการยุโรปด้านยุติธรรม (DG Justice) ภายใต้การนำของนาย Didier Reynders ได้เสนอข้อริเริ่มในการออกกฎหมายเพื่อบังคับให้ภาคเอกชนสหภาพยุโรปตรวจสอบ Supply Chain ของตนเพื่อเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจในด้านสิทธิมนุษยชน
และความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม โดยจะมีการจัดการหารือกับภาคส่วนต่างๆ ของสังคมก่อนที่จะเสนอกฎหมายเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 ซึ่งท่าทีดังกล่าวได้รับแรงสนับสนุนจากคณะกรรมาธิการด้านนิติบัญญัติแห่งรัฐสภายุโรป หรือ JURI ในเวลาต่อมา
กฎหมายใหม่นี้จะมีผลในการจัดระเบียบที่สอดคล้องกันในทุกประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป และวางกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการอย่างยั่งยืนโดยนำหลักการชี้แนะของสหประชาชาติ อาทิ หลักการว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UN Guiding Principle on Business and Human Right) มาปรับใช้ในแผนปฏิบัติการระดับชาติผ่านมาตรการแบบผสมผสานทั้งการบังคับด้วยกฎระเบียบ และการส่งเสริมและสนับสนุนด้วยการจูงใจ เพื่อให้การดำเนินการในเรื่องนี้สอดประสานในทิศทางเดียวกัน
ผลกระทบต่อภาคธุรกิจไทย ที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายฉบับใหม่
สหภาพยุโรปเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน แรงงาน และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร และมีเป้าหมายที่จะผนวกการพัฒนาที่ยั่งยืนเข้ากับกระบวนการทางธุรกิจ ซึ่งอาจนำไปสู่การเสนอกฎระเบียบควบคุมซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อประเทศที่สาม รวมถึงไทยได้ ในขณะที่แนวโน้มการดำเนินธุรกิจในโลกยุคปัจจุบันกำลังเปลี่ยนถ่ายจากการมุ่งสนองประโยชน์แก่เจ้าของกิจการมาสู่การให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง
จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ ในปัจจุบัน สหภาพยุโรป (27 ประเทศ) เป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทย
มีสัดส่วนการค้ากับไทยสูงถึงร้อยละ 7.9 ซึ่งสูงรองจากอาเซียน (ร้อยละ 22.4) จีน (ร้อยละ 16.5) และสหรัฐฯ (ร้อยละ 10.1) และเป็นตลาดให้กับสินค้าที่ไทยมีศักยภาพส่งออกไปสหภาพยุโรป เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องแต่งกาย อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์อาหารอื่น เคมีภัณฑ์ ยาง และพลาสติก เป็นต้น
ดังนั้น นักลงทุนไทยและผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปจึงควรติดตามความคืบหน้าของนโยบายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด รวมถึงต้องทำความเข้าใจห่วงโซ่อุปทานของตนเองให้ดียิ่งขึ้น โดยอาจทำการสำรวจและประเมินว่า การประกอบกิจการของตนมีความเสี่ยงหรือผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนที่อาจเกิดขึ้นในกระบวนการดำเนินงานของบริษัทในขั้นตอนต่าง ๆ หรือไม่ รวมถึงต้องวางแผนในการป้องกันและบรรเทาหรือแก้ไขปัญหาหากการประกอบธุรกิจของตนส่งผลกระทบ
ด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อให้สามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎระเบียบของสหภาพยุโรป รวมถึงเป็นการเพิ่ม
ขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทยเพื่อให้สามารรถรักษาตลาดที่สำคัญนี้ได้ต่อไป
******************
กองสหภาพยุโรป
กรมยุโรป
9 ธันวาคม 2563
ที่มา https://www.consilium.europa.eu/media/46999/st13512-en20.pdf
Credit ภาพปก https://www.netclipart.com/isee/Towxww_we-want-to-keep-thing-simple-you-only/
รูปภาพประกอบ
จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น. (ยกเว้นวันหยุดและวันหยุดนักขัตฤกษ์)