สรุปข่าวสารสำคัญจาก Euro-Thai Newsletter เดือน มี.ค. 66 ฉบับที่ 1 และ 2

สรุปข่าวสารสำคัญจาก Euro-Thai Newsletter เดือน มี.ค. 66 ฉบับที่ 1 และ 2

วันที่นำเข้าข้อมูล 1 พ.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 1 พ.ค. 2566

| 680 view

สรุปข่าวสารสำคัญจาก Euro-Thai Newsletter เดือน มี.ค. 66 ฉบับที่ 1 และ 2

          1. สหภาพยุโรป (อียู) กำลังพิจารณาร่างกฎหมาย Corporate Sustainability Due Diligence Directive ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อกำกับการดูแลกิจการให้มีความยั่งยืน โดยกำหนดให้บริษัทขนาดใหญ่ในอียูตรวจสอบห่วงโซ่อุปทานที่อยู่ทั้งในและนอกอียู ว่ามีการดำเนินการในด้านสิทธิมนุษยชน ธรรมาภิบาล และสิ่งแวดล้อมอย่างมีความรับผิดชอบ ปัจจุบัน องค์กรภายใต้อียูกำลังถกเถียงเกี่ยวกับร่างกฎหมายฯ ในหลายประเด็น โดยเฉพาะนิยามของ “บริษัท่ใหญ่” ที่จะต้องดำเนินการตามกฎหมายนี้ โดยคณะกรรมาธิการยุโรปเสนอให้ครอบคลุมบริษัทที่มีรายได้ (turnover) เกิน 150 ล้านยูโร หรือบริษัทที่มีรายได้เกิน 40 ล้านยูโรที่มีรายได้เกินกว่าร้อยละ 50 จากอุตสาหกรรมกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ อุตสาหกรรมป่าไม้ ประมง สิ่งทอ เกษตร และเหมืองแร่ แต่สภายุโรปต้องการลดเพดานรายได้ดังกล่าวลง (รายได้เกิน 40 ล้านยูโร หรือบริษัทที่มีรายได้เกิน 8 ล้านยูโรที่มีรายได้เกินกว่าร้อยละ 30 จากอุตสาหกรรมกลุ่มเสี่ยง) เพื่อให้กฎหมายฯ ครอบคลุมบริษัทจำนวนที่มากขึ้น คาดว่าอียูจะเจรจาร่างกฎหมายฯ แล้วเสร็จอย่างเร็วภายในช่วงปลายปี 2566 ทั้งนี้ เอกชนไทยที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของบริษัทใหญ่ในอียูจำเป็นต้องติดตามพัฒนาการในด้านนี้และเริ่มเตรียมความพร้อมสำหรับมาตรการดังกล่าว

          2. เมื่อเดือนตุลาคม 2565 สมาชิกอียูตกลงที่จะห้ามการขายรถที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน (internal combustion engine) ซึ่งใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล อาทิ น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติเป็นแหล่งพลังงาน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2035 (พ.ศ. 2578) เป็นต้นไป แต่ล่าสุด เยอรมนีได้ชะลอการรับรองข้อตกลงดังกล่าว เพราะต้องการเสนอให้รถที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในที่ใช้น้ำมันสังเคราะห์ อาทิ น้ำมันไบโอดีเซล ยังคงสามารถซื้อขายกันได้อยู่หลังจากปี ค.ศ. 2035 โดยประเทศสมาชิกอียูส่วนหนึ่งก็ได้เริ่มสนับสนุนช้อเสนอของเยอรมนีแล้วด้วย ซึ่งจะทำให้การรับร้องข้อตกลงดังกล่าวล่าช้าออกไป

           3. เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2566 คณะกรรมาธิการยุโรปได้เสนอร่างกฎหมายอุตสาหกรรมก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Industry Act) และร่างกฎหมายวัตถุดิบที่สำคัญอย่างยิ่ง (Critical Raw Materials Act: CRM) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มการสนับสนุนอุตสาหกรรมสีเขียวของอียูผ่านเงินอุดหนุนและการลดขั้นตอนการขอใบอนุญาต และสร้างความมั่นคงทางวัตถุดิบให้กับอียู ผ่านการเพิ่มการผลิต การแปรรูป การรีไซเคิลวัตถุดิบสำคัญภายในอียู โดยลดการพึ่งพาวัตถุดิบจากประเทศใดประเทศหนึ่งให้ไม่เกินร้อยละ 65 ของการอุปโภควัตถุดิบนั้น ๆ ภายในอียูทั้งหมด นอกจากนี้ อียูได้ถอด “ยางพารา” ออกจากรายการวัตถุดิบสำคัญอย่างยิ่งภายใต้ร่างกฎหมายฯ ซึ่งสะท้อนความมั่นใจของอียูว่าจะสามารถหาแหล่งนำเข้ายางพาราจากประเทศที่สามได้อย่างเพียงพอ และจะมุ่งใช้หลักเกณฑ์ความยั่งยืนต่อสินค้ายางพาราตามกฎหมายว่าด้วยสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า (Regulation on Deforestation-free Products) ซึ่งผู้ส่งออกยางพาราไทยจำเป็นต้องศึกษาและเตรียมความพร้อมอย่างทันท่วงที

          4. เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 คณะกรรมาธิการยุโรปได้เสนอให้ปฏิรูปโครงสร้างตลาดพลังงานไฟฟ้าของยุโรป (European Electricity Market) อาทิ (1) ยกเลิกการกำหนดค่าไฟเดิมที่แปรผันตรงกับราคาก๊าซซึ่งมีราคาเพิ่มขึ้นอย่างมากจากกรณีความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน จนทำให้เกิดวิกฤตพลังงานในอียูในปัจจุบัน (2) ทำให้ราคาพลังงานหมุนเวียนถูกลงและเข้าถึงได้มากขึ้น และ (3) กำหนดรูปแบบสัญญาซื้อขายไฟฟ้าใหม่ในลักษณะที่จะช่วยรักษาเสถียรภาพของราคาไฟฟ้าในระยะยาวให้กับบริษัทในยุโรป

           สามารถดูรายละเอียดข่าวสารฉบับเต็มได้ที่ http://bit.ly/3TDZ6cQ

 

* * * * * * * * * *