รับสมัครคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมเพื่อดำรงตำแหน่งมนตรีฝ่ายไทยประจำ มูลนิธิเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Foundation: ASEF)

รับสมัครคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมเพื่อดำรงตำแหน่งมนตรีฝ่ายไทยประจำ มูลนิธิเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Foundation: ASEF)

วันที่นำเข้าข้อมูล 21 ก.พ. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 21 ก.พ. 2566

| 1,351 view

 

ข่าวกระทรวงการต่างประเทศ

เรื่อง รับสมัครคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมเพื่อดำรงตำแหน่งมนตรีฝ่ายไทยประจำ

มูลนิธิเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Foundation: ASEF)

----------------------------------------------

 

   ด้วยกระทรวงการต่างประเทศจะเปิดรับสมัครคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมเพื่อดำรงตำแหน่งมนตรีฝ่ายไทย (Governor for Thailand) ประจำมูลนิธิเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Foundation: ASEF) [1] ซึ่งเป็นองค์กรถาวรเดียวของกรอบการประชุมเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Meeting: ASEM)

1. ภารกิจหลักของผู้ดำรงตำแหน่งมนตรีฝ่ายไทยฯ

    1.1 ร่วมกับคณะมนตรี ASEF (Board of Governors: BoG) ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากสาขาอาชีพต่าง ๆ เพื่อกำหนดนโยบาย วางแผนการดำเนินกิจกรรม ตลอดจนหาทุนสนับสนุน และอนุมัติงบประมาณของ ASEF

    1.2 เข้าร่วมการประชุม BoG ที่ต่างประเทศอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

    1.3 มีกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 3 ปี และสามารถต่อวาระได้

    1.4 มนตรีฝ่ายไทยฯ ไม่ได้รับเงินเดือนหรือผลตอบแทนประจำ แต่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายต่าง ๆ และค่าเบี้ยเลี้ยงสำหรับการเดินทางไปประชุมในต่างประเทศได้ตามระเบียบราชการจากงบประมาณของกรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ

2. คุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครเข้ารับการคัดเลือก

    2.1 เป็นนักบริหารที่ดีและมีประสบการณ์ในตำแหน่งระดับสูง/อาวุโส

    2.2 เคยรับราชการ โดยอาจมีประสบการณ์ทำงานที่เกี่ยวข้องกับทั้งภูมิภาคเอเชียและยุโรป และสามารถทำงานร่วมกับบุคลากรจากหลายเชื้อชาติและหลากหลายระดับ

    2.3 มีประสบการณ์การเจรจาในเวทีการประชุมพหุภาคี มีความคิดริเริ่ม มีวิสัยทัศน์ และสามารถขับเคลื่อนการพัฒนาความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ได้ดี

    2.4 มีความสามารถหลายด้าน มีประสบการณ์ในภาพกว้างและความเข้าใจลึกซึ้ง ด้านความร่วมมือระหว่างภูมิภาค โดยเฉพาะในด้านสังคม วัฒนธรรม และการแลกเปลี่ยนในระดับประชาชน (Track II) ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของ ASEF

    2.5 เข้าใจนัยละเอียดอ่อนทางการเมืองระหว่างไทยกับประเทศในภูมิภาคเอเชีย/ยุโรป และระหว่างเอเชียกับยุโรป โดยมีทักษะด้านการเจรจาในเวทีระหว่างประเทศ รวมทั้งมีความสามารถในการตัดสินใจที่เร็วและมีเหตุผล

    2.6 สามารถมองเห็นและเชื่อมโยงผลประโยชน์ของไทย/อาเซียนในเวที ASEF และ ASEM ตลอดจนส่งเสริมบทบาทของไทยในเวทีระหว่างประเทศ

    2.7 สามารถเดินทางเข้าร่วมการประชุม BoG ที่ต่างประเทศอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

 

3. ขั้นตอน/กระบวนการคัดเลือก

ขั้นตอนการดำเนินงาน

ช่วงเวลาในการดำเนินงาน

1. คณะกรรมการสรรหามนตรีไทยประจำ ASEF ประชุมเพื่อ
กลั่นกรองและสัมภาษณ์ผู้สมัครก่อนพิจารณาคัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมจำนวน 1 ราย โดยใช้วิธีลงคะแนนเสียงในการคัดเลือก

เดือนมีนาคม

2. เสนอชื่อมนตรีฝ่ายไทยฯ คนใหม่ให้ ครม. อนุมัติ

เดือนมีนาคม-เมษายน

3. ประกาศชื่อผู้รับตำแหน่งมนตรีฝ่ายไทยฯ ทางเว็บไซต์กรมยุโรป พร้อมกับแจ้งชื่อมนตรีฝ่ายไทยฯ คนใหม่ต่อ ASEF

เดือนเมษายน

4. มนตรีฝ่ายไทยฯ คนใหม่ เริ่มปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงการเตรียมการเข้าร่วมการประชุมประจำปีของคณะมนตรีมูลนิธิเอเชีย-ยุโรป
ครั้งที่ 44 ในเดือนมิถุนายน 2566

เดือนเมษายน/พฤษภาคม

4. วิธีการสมัคร

      ผู้ที่ประสงค์จะสมัครคัดเลือกสามารถส่งหนังสือแจ้งความจำนงในการสมัครฯ พร้อมกับประวัติ (CV) ได้ตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 ถึงวันที่ 7 มีนาคม 2566
ที่ กรมยุโรป 
กระทรวงการต่างประเทศ 443 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400 หรือทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ที่ [email protected]



กรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ

21 กุมภาพันธ์ 2566

___________________________________________________________________

[1] มูลนิธิเอเชีย-ยุโรป ASEF (Asia-Europe Foundation: ASEF) เป็นองค์กรถาวรเดียวของกรอบการประชุมเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Meeting: ASEM) จัดตั้งขึ้นในปี 2540 (ค.ศ. 1997 ตามมติของที่ประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 1 ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 1 – 2 มีนาคม 2539 (ค.ศ. 1996) มีสำนักงานตั้งอยู่ที่สาธารณรัฐสิงคโปร์ และได้รับงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานจากเงินบริจาคโดยสมัครใจของสมาชิก ASEM โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างภูมิภาคเอเชียกับยุโรปและสนับสนุนการทำงานของ ASEM ในมิติ Track II ผ่านการจัดกิจกรรมในภาคประชาสังคม 4 สาขาหลัก ได้แก่ (1) การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม (2) การแลกเปลี่ยนทางวิชาการ (3) การแลกเปลี่ยนในระดับประชาชน และ (4) การประชาสัมพันธ์ ASEM