จับตาความร่วมมือทางการค้าและเทคโนโลยีระหว่างอียู-สหรัฐฯ

จับตาความร่วมมือทางการค้าและเทคโนโลยีระหว่างอียู-สหรัฐฯ

วันที่นำเข้าข้อมูล 14 ธ.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 1,850 view

เป็นที่ทราบกันดีว่า จุดประสงค์สำคัญของการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพยุโรปกับสหรัฐฯ ในปัจจุบัน คือ การสร้างพันธมิตรข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกเพื่อผนึกกำลังรับมือกับการขยายอำนาจของจีนในเวทีโลก โดยพัฒนาการที่เป็นรูปธรรมหนึ่งคือการจัดตั้งสภาการค้าและเทคโนโลยีระหว่างอียูและสหรัฐฯ (EU-US Trade and Technology Council (TTC)) เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านการค้า เศรษฐกิจและเทคโนโลยี ร่วมพัฒนากฎหมายสำหรับใช้ควบคุมเืเทคโนโลยีที่เกิดใหม่ในอนาคต อาทิ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และสินค้าที่ใช้ได้สองทาง และส่งเสริมพลวัตความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายภายใต้หลักค่านิยมประชาธิปไตยเดียวกัน

โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา China Tech ได้เติบโตไม่แพ้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ เห็นได้ชัดเจนจากการพัฒนาแพลตฟอร์มสัญชาติจีนต่าง ๆ แทนการพึ่งพาแพลตฟอร์มของสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็น Baidu แทนการใช้เว็บค้นหา Google Renren แทนการใช้สื่อโซเชียล Facebook และ Taobao.com แทนการใช้เว็บซื้อขายออนไลน์อย่าง Amazon เป็นต้น ตลอดจนการเป็นผู้เล่นสำคัญในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงของโลก ซึ่งปัจจุบันเซมิคอนดักเตอร์เป็นสินค้าที่ขาดตลาดและเป็นที่ต้องการของภาคอุตสาหกรรมการผลิตอย่างมาก อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ส่งผลให้จีนมีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้พัฒนาและผลิตสินค้าเทคโนโลยีสู่ตลาดโลกเพิ่มมากขึ้น และอาจแซงหน้ามหาอำนาจตะวันตกได้

ดังนั้น การกระชับและพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างอียูและสหรัฐฯ ในด้านการค้าและเทคโนโลยีจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเดิมของการเจรจาหุ้นส่วนการค้าและการลงทุนข้ามแอตแลนติก (Transatlantic Trade and Investment Partnership (TTIP)) ที่หลังจากการเจรจากว่า 4 ปี (ระหว่างปี ค.ศ. 2013-2016) ก็ไม่ประสบความสำเร็จ จนสุดท้ายคณะมนตรียุโรปได้ประกาศยุติการเจรจาอย่างเป็นทางการไปเมื่อปี ค.ศ. 2019 และการเจรจาข้อตกลงเรื่องการโอนถ่ายข้อมูลข้ามประเทศระหว่างอียูและสหรัฐฯ (Privacy Shield) ที่ไม่คืบหน้า เนื่องจากสหรัฐฯ ยังไม่สามารถพิสูจน์ให้ศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรป (CJEU) ยอมรับกลไกข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก ซึ่งจะเป็นการอนุญาตให้บริษัทในสหรัฐฯ สามารถถ่ายโอนข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนยุโรปและผู้อยู่อาศัยในอียูได้อย่างเสรีได้

โดยการประชุม EU-US Trade and Technology Council (TTC) ครั้งแรกเมื่อปลายเดือนกันยายน 2564 ที่ผ่านมา ฝ่ายอียูได้มอบหมายนาง Margrethe Vestager และนาย Valdis Dombrovskis รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปทั้งสองคน เข้าร่วมประชุมกับนาย Anthony Blinken รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นาง Gina Raimondo รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ และนาง Katherine Tai ผู้แทนการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและได้เผยแพร่ผลลัพท์ของการประชุม โดยได้เน้นย้ำประเด็นความร่วมมือต่าง ๆ ดังนี้ ทั้งสองฝ่ายประกาศความร่วมมือในด้านการคัดกรองการลงทุน มาตรการควบคุมการส่งออกสำหรับเทคโนโลยีที่มีความละเอียดอ่อน (สินค้าที่ใช้ได้สองทาง) การพัฒนาเทคโนโลยี AI การยกระดับอุตสากรรมเซมิคอนดักเตอร์ และความท้าทายของการค้าโลก ซึ่งสังเกตได้ว่าทั้งสองฝ่ายมีความกังวลว่าบริษัทจีนที่ได้รับการหนุนจากรัฐบาล จะเข้ามากวาดซื้อบริษัทนวัตกรรมที่ทันสมัยของตน และ/หรือ ใช้มาตรการทุ่มตลาดในตลาดอียูและสหรัฐฯ จึงมีการหารือและให้คำมั่นว่าทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด โดยเสนอให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลลับด้านการลงทุนในประเทศของทั้งสองฝ่าย เพื่อเป็นการผสานกำลังป้องกันการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมจากบริษัทจีน

ทั้งนี้ ที่ประชุม TTC ได้จัดตั้งและมอบหมายให้คณะทำงาน 10 กลุ่มย่อย ดำเนินการเพื่อบรรลุจุดประสงค์รายกลุ่มย่อยที่กำหนดไว้ ครอบคลุมมิติต่าง ๆ ได้แก่ มาตรฐานเทคโนโลยี สภาพอากาศและเทคโนโลยีสะอาด ห่วงโซ่การผลิตที่มั่นคง ความปลอดภัยและการแข่งขันของเทคโนโลยีการสื่อสาร การกำกับดูแลข้อมูลและแพลตฟอร์มเทคโนโลยี การนำเทคโนโลยีมาใช้ในทางที่ผิดอันเป็นภัยต่อความมั่นคงและสิทธิมนุษยชน มาตรการควบคุมการส่งออก การคัดกรองการลงทุน การส่งเสริม SME ให้สามารถเข้าถึงการใช้เครื่องมือดิจิทัล และความท้าทายของการค้าโลกอื่น ๆ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการประชุมTTC ครั้งต่อไปในปี 2565

ล่าสุด เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2564 คณะกรรมาธิการยุโรปได้เปิดช่องทางการรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะบนแพลตฟอร์มออนไลน์ หรือ “Futurium” เพื่อเป็นพื้นที่เสมือนจริงในการรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทั้งสองฝ่าย รวมถึงภาคธุรกิจ หน่วยงานภาครัฐ นักวิจัย สถาบันการศึกษา ภาคประชาสังคม และผู้กำหนดนโยบาย เพื่อเป็นการร่วมกันพัฒนาจัดทำกฎเกณฑ์ทางด้านการค้าและเทคโนโลยีที่เกิดใหม่ในอนาคตที่ทุกภาคส่วนของสังคมมีส่วนร่วมในการพัฒนาทิศทางของความสัมพันธ์ ตลอดจนได้รับประโยชน์จากการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างอียูและสหรัฐฯ

อย่างไรก็ดี มีประเด็นที่อียูและสหรัฐฯ ยังไม่สามารถตกลงกันได้ เช่น ฝ่ายสหรัฐฯ ไม่ยอมผูกมัดอะไรในประเด็นคำร้องจากอียูให้ยกเลิกภาษีสินค้าเหล็กและอะลูมิเนียมจากอียูที่ไม่เป็นธรรม และไม่มีความเห็นต่อแนวทางการปฏิรูป WTO ขณะที่ฝ่ายอียูเองก็ไม่มีการเสนอที่จะรื้อฟื้นการเจรจา Privacy Shield หรือลงรายละเอียดเรื่องแผนร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ เนื่องจากอียูก็มีแผนยุทธศาสตร์ที่จะอัดฉีดเงินลงทุนในการสร้างโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในยุโรปเองอยู่แล้ว

อนาคตของความสัมพันธ์ฯ นี้จะรอดหรือล่ม ขึ้นอยู่กับการประนีประนอมของทั้งสองฝ่าย หากสังเกตจากประเด็นเรื่องภาษีดิจิทัลที่เมื่อวันที่ 21 ตุลาคมที่ผ่านมา สหรัฐฯ สามารถบรรลุข้อตกลงกับฝรั่งเศส อิตาลี สเปน ออสเตรีย และสหราชอาณาจักร โดยยอมที่จะยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางการค้าที่เคยบังคับใช้เพื่อเป็นการตอบโต้การจัดเก็บภาษีดิจิทัลจาก 5 ประเทศดังกล่าว ในขณะที่อีกฝ่ายจะทำการยกเลิกมาตรการจัดเก็บภาษีดิจิทัลในประเทศ และเปลี่ยนมาใช้อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำ (Global Minimum Tax (GMT)) แทน ซึ่งนับว่าเป็นสัญญานที่ดีสำหรับการกระชับความสัมพันธ์ และที่สำคัญจะต้องคอยติดตามท่าทีและการตอบโต้ของจีนต่อความสัมพันธ์ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกอย่างไรต่อไป

ที่มา:

https://thaieurope.net/2021/11/04/eu-us-trade-and-technology-council-ttc/

https://ec.europa.eu/commission/presscorner/detail/en/STATEMENT_21_4951

https://ec.europa.eu/commission/presscorner/detail/en/ip_21_5308

https://trade.ec.europa.eu/doclib/press/index.cfm?id=1230

https://www.politico.eu/article/us-eu-tech-trade-alliance-bad-start/

https://www.politico.eu/article/europeans-us-agree-on-withdrawing-digital-taxes-and-retaliatory-measure/

https://www.politico.eu/newsletter/brussels-playbook/balkan-tensions-latest-from-germany-poland-and-commission-to-meet/

https://www.politico.eu/newsletter/brussels-playbook/ttc-lowdown-franco-greek-alliance-ruffles-feathers-french-fish-woes/