การเข้าร่วมการประชุม G7 Summit ของผู้นำสหภาพยุโรป (อียู)

การเข้าร่วมการประชุม G7 Summit ของผู้นำสหภาพยุโรป (อียู)

วันที่นำเข้าข้อมูล 7 มิ.ย. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 14 มิ.ย. 2566

| 1,298 view

การเข้าร่วมการประชุม G7 Summit ของผู้นำสหภาพยุโรป (อียู)

       

           เมื่อวันที่ ๑๙-๒๑ พฤษภาคม ๒๕๖๖ (ค.ศ. ๒๐๒๓) นาย Charles Michel ประธานคณะมนตรียุโรป และนาง Ursula von der Leyen ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป เข้าร่วมการประชุม G7 Summit ที่เมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น โดยที่ประชุม G7 เห็นพ้องสนับสนุนความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ดังนี้ 

           - สถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ให้งดเว้นการส่งออกสินค้าที่รัสเซียสามารถนำไปใช้ในการทำสงคราม และจำกัดรายได้ของรัสเซียจากอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น พลังงาน การนำเข้าเพชรจากรัสเซีย

           - เศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้ส่งเสริมบทบาทของประเทศกำลังพัฒนาและระดมเงินจำนวน ๖ แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี พ.ศ. ๒๕๗๐ (ค.ศ. ๒๐๒๗) เพื่อใช้พัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคในโครงการ Partnership for Global Infrastructure and Investment และสนับสนุนงบประมาณสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีสะอาด

           - ความมั่นคงทางอาหารและสุขภาพ สนับสนุนการต่ออายุ Black Sea Grain Initiative รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาขีดความสามารถในการผลิตวัคซีน และการจัดทำข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยการรับมือการระบาดใหญ่

           - การพัฒนามาตรฐานปัญญาประดิษฐ์ โดยจะจัดตั้ง Hiroshima Artificial Intelligence (AI) Process เพื่อหารือและส่งเสริมธรรมาภิบาลในการพัฒนาและการใช้ปัญญาประดิษฐ์

           - การสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยส่งเสริมภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกให้เป็นภูมิภาคทีเสรีและเปิดกว้าง รวมทั้งบทบาทของประเทศในแอฟริกา และการมีปฏิสัมพันธ์กับจีน

           ทั้งนี้ ในระหว่างการประชุมฯ อียูได้พยายายามผลักดันวาระของตน เช่น (๑) การปลดและลดการแพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ โดยชี้ให้เห็นถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซีย (๒) การมีปฏิสัมพันธ์กับจีนตามหลักการลดความเสี่ยงแทนการแยกตัว (“de-risking, not decoupling”) โดยลดการพึ่งพาจีนควบคู่กับการแก้ไขปัญหาการปฏิบัติทางการค้าอย่างไม่เท่าเทียมและกระจายคู่ค้า ทั้งนี้ จีนยังคงเป็นหุ้นส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาความท้าทายระดับโลกของอียู (๓) การปฏิรูป UN, WTO และสนับสนุนให้ African Union (AU) เป็นสมาชิก G20 และ (๔) การส่งเสริมและพัฒนาการเข้าถึงเทคโนโลยีสะอาดอย่างเป็นธรรมเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมการแข่งขันที่เท่าเทียม (level-playing field)

            ข้อสังเกต การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นที่เมืองฮิโรชิมาซึ่งเป็นพื้นที่ที่เคยถูกโจมตีด้วยระเบิดนิวเคลียร์ และในห้วงเวลาที่มีการข่มขู่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์ ทำให้อียูพยายามใช้สัญลักษณ์นี้ในการผลักดันให้มีการดำเนินการตามสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (Treaty on the Non-Proliferation of Nuclear Weapons: NPT) และเรียกร้องให้ยกระดับการลงโทษเพื่อป้องกันการหลีกเลี่ยงมาตรการลงโทษ (anti-circumvention) ที่อียูได้ดำเนินการไปแล้ว นอกจากนี้ อียูได้ใช้เวที G7 เร่งระดมเงินทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและความเชื่อมโยง ตลอดจนยกระดับความสัมพันธ์ทางการค้าในแอฟริกาเพื่อลดและทดแทนการนำเข้าจากจีน

           อย่างไรก็ดี คาดว่า อียูจะไม่สามารถผลักดันวาระเหล่านี้ได้ทั้งหมด โดยน่าจะยังไม่สามารถระงับการซื้อ-ขายเพชรจากรัสเซียได้ทันที เพราะเบลเยียมซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าเพชรของโลกคัดค้าน และในด้านการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาด อียูยังคงมีท่าทีขัดแย้งกับสหรัฐฯ ซึ่งได้ให้สิทธิพิเศษทางภาษีแก่บริษัทผู้ผลิตและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาดในอียูในการย้ายฐานการผลิตไปยังสหรัฐฯ

* * * * * *

bg_mv_06.6f465529_Z18PygJ