EU เตรียมเริ่มใช้กฎหมายการให้บริการดิจิทัล (DSA) ควบคุมอินเตอร์เน็ตให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย

EU เตรียมเริ่มใช้กฎหมายการให้บริการดิจิทัล (DSA) ควบคุมอินเตอร์เน็ตให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย

วันที่นำเข้าข้อมูล 20 มิ.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 20 มิ.ย. 2565

| 1,850 view

นาง Ursula von der Leyen ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ได้ย้ำถึงความมุ่งมั่นของ EU ในการควบคุมแพลทฟอร์มดิจิทัลให้เป็นพื่นที่ปลอดภัย ปกป้องเสรีภาพการแสดงออก และส่งเสริมธุรกิจดิจิทัล ตามแนวคิด “อะไรที่ผิดกฎหมายในโลกออฟไลน์ ก็ต้องผิดกฎหมายในโลกออนไลน์เช่นกัน” ซึ่งกฎหมายการให้บริการดิจิทัล (Digital Services Act (DSA)) ควบคู่กับกฎหมายการตลาดดิจิทัล (Digital Market Act (DMA)) ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะมนตรียุโรปและสภายุโรปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เป็นการแสดงจุดยืนที่ชัดเจนของ EU ในฐานะผู้นำด้านกฎหมายดิจิทัล ต่อประเทศสมาชิก EU ภาคธุรกิจในยุโรป และประเทศคู่ค้าของ EU

เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2565 คณะมนตรียุโรปและสภายุโรปเห็นชอบร่างกฎหมายการให้บริการดิจิทัล (Digital Services Act (DSA)) เพื่อควบคุมธุรกิจบนแพลตฟอร์มดิจิทัลและสื่อโซเชียล อาทิ Meta/Facebook และ Twitter ผู้ให้บริการเว็บโฮสติ้ง แพลตฟอร์มซื้อขายของออนไลน์ โปรแกรมค้นหา (search engines) อาทิ Google และบริการออนไลน์อื่น ๆ ใน EU ให้ปลอดภัย มีความโปร่งใส เป็นธรรม และสามารถตรวจสอบได้ มุ่งจัดการกับเนื้อหาผิดกฎหมายและเนื้อหาที่เป็นอันตราย โดยกำหนดให้มีการปรับปรุงแนวปฏิบัติการตรวจสอบข้อมูลบนเว็บไซต์ (moderation practices) ของดิจิทัลแพลตฟอร์มให้เข้มงวดขึ้น

กฎหมาย DSA กำหนดให้ผู้ให้บริการทางดิจิทัลต้องตรวจสอบว่าแพลตฟอร์มออนไลน์ของตนไม่มีสิ่งผิดกฎหมาย (การทำ due diligence) รวมทั้งต้องมีวิธีการลบคอนเทนต์ที่ผิดกฎหมายให้เร็วขึ้น และมีมาตรการปกป้องสิทธิพื้นฐานของผู้ใช้บริการออนไลน์อย่างครอบคลุม ทั้งนี้ บริษัทที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย DSA ได้แก่

  • ผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานของเครือข่าย เช่น ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต และผู้รับจดทะเบียนชื่อโดเมนเว็บไซต์
  • ผู้ให้บริการโฮสติ้ง เช่น ผู้ให้บริการคลาวด์ และบริการเว็บโฮสติ้ง
  • เว็บไซต์โปรแกรมค้นขนาดใหญ่ (very large online search engines (VLOSEs)) ซึ่งมีผู้ใช้บริการมากกว่าร้อยละ 10 ของประชากร 450 ล้านคนในสหภาพยุโรป หรือมากกว่า 45 ล้านคนต่อเดือน ดังนั้น จึงต้องมีภาระหน้าที่ในการควบคุมเนื้อหาออนไลน์ที่ผิดกฎหมายมากขึ้น
  • แพลตฟอร์มซื้อขายของออนไลน์ เช่น ตลาดออนไลน์ ร้านค้าจำหน่ายแอพพลิเคชั่น (app stores) แพลตฟอร์มความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (collaborative economy platform) อย่าง Uber และ Airbnb และแพลตฟอร์มสื่อโซเชียล
  • แพลตฟอร์มออนไลน์ขนาดใหญ่ (very large online platforms (VLOPs)) ซึ่งมีผู้ใช้บริการมากกว่าร้อยละ 10 ของประชากร 450 ล้านคนในสหภาพยุโรป หรือมากกว่า 45 ล้านคนต่อเดือน ซึ่งมีความเสี่ยงสูงในการเผยแพร่เนื้อหาที่ผิดกฎหมายและสร้างความเสียหายต่อสังคม

ทั้งนี้ บริษัทแพลทฟอร์มขนาดย่อยและขนาดเล็กที่มีผู้ใช้บริการน้อยกว่า 45 ล้านคนต่อเดือน จะได้รับการยกเว้นจากกฎหมายดิจิทัลใหม่นี้ เพื่อไม่สร้างภาระแก่บริษัทขนาดย่อยและเล็กมากเกินไป และเปิดโอกาสให้บริษัทเหล่านี้สามารถเติบโตขึ้นมาแข่งขันกับบริษัทใหญ่ ๆ ได้

กฎหมาย DSA จะมีผลบังคับใช้อย่างเร็วในวันที่ 1 ม.ค. 67 หรือ 15 เดือนหลังการประกาศกฎหมาย โดยมีข้อยกเว้นให้บังคับใช้ต่อบริษัทแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ (VLOPs) และโปรแกรมค้นหาขนาดใหญ่  (VLOSEs) 4 เดือนหลังการประกาศกฎหมาย ในกรณีมีการละเมิดกฎหมาย ค่าปรับอาจสูงถึงร้อยละ 6 ของรายได้รวมในทุกประเทศของบริษัทดังกล่าว โดยแพลตฟอร์มที่ EU จับตาดูอย่างใกล้ชิดมีประมาณ 30 แพลตฟอร์ม รวมถึง Facebook Google Twitter และ Amazon

ความท้าทายลำดับต่อไปของ EU คือ การรวบรวมและสร้างทีมผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายดิจิทัล ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูล และผู้เชี่ยวชาญด้านอัลกอริทึ่ม อย่างน้อย 150 คน เพื่อทำการตรวจสอบและประเมินแพลตฟอร์มดิจิทัลทั้งหลายว่าได้ปฏิบัติตามกฎหมาย DSA อย่างเคร่งครัดหรือไม่ และเตรียมพร้อมในการรับมือกับกองทัพทนายจากบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ในอนาคต

นอกจากนี้ EU ยังมีแผนที่จะจัดตั้งสำนักงานใหม่ที่ซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐฯ เพื่อประสานและดำเนินการด้านนโยบายดิจิทัลและเทคโนโลยีอย่างใกล้ชิดกับบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่จาก Silicon Valley อาทิ บริษัท Apple บริษัท Google และบริษัท Meta (Facebook Instagram และ WhatsApp) รวมถึงการตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมาย DSA และ DMA ของ EU ภายใต้แนวทางของคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศสหรัฐจากวอชิงตัน ซึ่งเป็นการส่งเสริมบทบาทของ EU ในการเป็นผู้นำด้านกฎหมายดิจิทัลและเป็นผู้กำหนดมาตรฐานด้านเทคโนโลยีในเวทีโลกอีกด้วย

 

 

ที่มา

https://thaieurope.net/2022/06/14/eu-dsa-regulation/

https://www.politico.eu/article/digital-services-act-commission-enforcement/

https://pro.politico.eu/news/149104

https://ec.europa.eu/commission/presscorner/detail/en/IP_22_2545

https://www.consilium.europa.eu/en/press/press-releases/2022/04/23/digital-services-act-council-and-european-parliament-reach-deal-on-a-safer-online-space/