อียูเสนอร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการเข้าถึงและใช้ข้อมูล (Data Act) มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจข้อมูลดิจิทัล

อียูเสนอร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการเข้าถึงและใช้ข้อมูล (Data Act) มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจข้อมูลดิจิทัล

วันที่นำเข้าข้อมูล 6 พ.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 6 พ.ค. 2565

| 927 view

อียูเสนอร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการเข้าถึงและใช้ข้อมูล (Data Act) มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจข้อมูลดิจิทัล

          ในยุคดิจิทัลที่ “ข้อมูล” มีบทบาทมากขึ้นและกลายเป็นกุญแจสำคัญที่จะสามารถช่วยปลดล็อคประตูสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงการส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งนับเป็นโอกาสของภาคธุรกิจในการเข้าถึงข้อมูลจำนวนมาก เพื่อนำไปใช้ต่อยอดให้เกิดประโยชน์ เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันตลอดจนส่งเสริมไอเดียธุรกิจใหม่ๆ สำหรับการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัลที่ยั่งยืนต่อไป

          ข้อมูลดิจิทัลอยู่ในกลุ่มสินค้าที่ไม่มีคู่แข่งในการบริโภค (non-rival good) ที่ผู้คนจำนวนมากสามารถเข้าถึงได้พร้อม ๆ กันและสามารถนำไปใช้ซ้ำได้หลายครั้ง โดยไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพและไม่ต้องกังวลว่าปริมาณสินค้าจะลดน้อยลง ซึ่งในชีวิตประจำวันมีการผลิตและจัดเก็บข้อมูลดิจิทัลเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องตามไลฟ์สไตล์ร่วมสมัยที่มีพึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้น จึงคาดการได้ว่าภายในปี ค.ศ. 2025 จะมีปริมาณข้อมูลกว่า 175 เซตตะไบต์ (ล้านล้านกิกาไบต์) ในเศรษฐกิจสหภายุโรป อย่างไรก็ดี ปัจจุบันข้อมูลเหล่านี้ยังไม่ถูกนำไปใช้อย่างเต็มศักยภาพ โดยเฉพาะข้อมูลอุตสาหกรรมที่ปัจจุบันถูกนำไปใช้ประโยชน์เพียงร้อยละ 20 เท่านั้น

มาตรการส่งเสริมเศรษฐกิจข้อมูลของอียู

          เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 คณะกรรมิการยุโรปจึงได้เสนอร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเข้าถึงและใช้ข้อมูล (Data Act) เพื่อปลดล็อคให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น เพื่อเปิดโอกาสด้านนวัตกรรมที่เน้นการใช้ข้อมูล (date-driven innovation) และนำไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ตามแนวทางของแผน ยุทธศาสตร์ด้านข้อมูลของสหภาพยุโรป (European strategy for Data) โดยกำหนดมาตรการว่าใครสามารถเข้าถึงและ/หรือนำเข้าข้อมูลที่ผลิตในสหภาพยุโรปไปใช้ได้ ตลอดจนลดอุปสรรคด้านกฎหมาย ด้านเศรษฐกิจ และ ด้านเทคนิคที่จำกัดการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ โดยได้เสนอมาตรการที่สำคัญ ดังนี้

1) มาตรการเพื่อให้ใช้อุปกรณ์เชื่อมต่อสามารถเข้าถึงและจัดการข้อมูลที่ตนผลิตได้เช่นเดียวกับผู้ผลิตอุปกรณ์ โดยผู้ใช้สามารถมอบสิทธ์ในการใช้ข้อมูลนี้ให้แก่บุคคลที่สามเพื่อให้บริการหลังการขายหรือบริการอื่น ๆ ที่ใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนด้วยข้อมูล โดยมีข้อยกเว้นว่าผู้ใช้ไม่สามารถแบ่งปันข้อมูลให้กับบริษัทคู่แข่งของผู้ผลิต และบริษัทยักษ์ใหญ่ซึ่งมีหน้าที่เป็นผู้คุมประตูตามเกณฑ์ของกฎหมายการตลาดดิจิทัลของอียู (Digital Mark Act (DMA))

2) มาตรการเพื่อรักษาสมดุลของอำนาจในการเจรจาสัญญาการแบ่งข้อมูลระหว่าง SMEs และ บริษัทยักษ์ใหญ่ ป้องกันไม่ให้ผู้ประกอบการรายย่อยเสียเปรียบในสัญญาที่ไม่เป็นธรรม โดยคณะกรรมาธิการยุโรปจะพัฒนา “สัญญาต้นแบบ” เพื่อช่วยสนับสนุนบริษัทรายย่อยในการร่างและเจรจาสัญญาแบ่งปันข้อมูลอย่างเป็นธรรม

3) มาตรการเพื่ออนุญาตให้ภาครัฐมีสิทธ์เข้าถึงและใช้ข้อมูลที่จัดเก็บโดยภาคเอกชนในบริบทเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมในสถานการณ์ฉุกเฉิน อาทิ การก่อการร้าย อุทกภัย ไฟป่า และ/หรือเพื่อดำเนินการตามข้อกดหมายโดนภาครัฐจำเป็นต้องมีข้อมูลเชิงลึกเพื่อรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างรวดเร็วและปลอดภัย

(4) มาตรการเพื่อให้ลูกค้าสามารถพิจารณาเปลี่ยนผู้ให้บริการระบบคลาวด์ได้ โดยมีมาตรฐานระบบคลาวด์ที่สามารถเชื่อมต่อ แลกเปลี่ยนข้อมูลและทำงานร่วมกันได้ (Interoperability) และกำหนดมาตรการป้องกันการถ่ายโอนข้อมูลที่ผิดกฎหมาย อาทิ การโอนถ่ายข้อมูลอุตสาหกรรมออกนอกสหภาพยุโรป และการเข้าถึงข้อมูลจากรัฐบาลจากประเทศที่สามที่ขัดแย้งกับกฎหมายสหภาพยุโรป/กฎหมายของประเทศสมาชิก

นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการยุโรปเสนอให้มีการทบทวนกำหมายฐานข้อมูล (Database Directive) จากปี ค.ศ. 1990 เพื่อชี้แจงให้ชัดเจนว่าฐานข้อมูลที่มีการจัดเก็บข้อมูลจากอุปกรณ์เชื่อมต่อ (Internet of Things (IoT)) ไม่ควรอยู่ภายใต้การคุ้มครองทางกฎหมายแยกต่างหาก เพื่อส่งเสริมให้สามารถเข้าถึงและนำข้อมูลดิจิทัลไปใช้ต่อได้

วงการคริปโตสะเทือน เตรียมปรับตัวตามกฎหมายใหม่

          ในมิติด้านผลกระทบของร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเข้าถึงและใช้ข้อมูลได้เสนอมาตรการควบคุมสัญญาอัจฉริยะ (smart contracts) หรือ กระบวนการทางดิจิทัลที่กำหนดขั้นตอนการทำธุรกรรมโดยอัตโนมัติไว้ล่วงหน้า โดยไม่มีตัวกลางควบคุม ซึ่งเป็นจุดเด่นของการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านสกุลเงินดิจิทัล อาทิ Bitcion และ Ethereum เนื่องจากสามารถทำธุรกรรมได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ โดยในร่างกำหมาย ฯ กำหนดให้ผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่นต้องสร้าง “kill watch” เพื่อเป็นกลไกในการยุติการทำธุรกรรมต่อเนื่อง และกระทบต่อคุณสมบัติการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ (immutability) กอปรกับข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมายการโอนเงินของสหภาพยุโรป ขยายภาระผูกพันของสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องกับการโอนเงินให้ครอบคลุมการทำธุรกรรมคริปโต โดยผู้ให้บริการจะต้องมีการบันทึกและตรวจสอบข้อมูลชื่อลูกค้า ที่อยู่ วันเกิด หมายเลขบัญชี และชื่อของผู้รับเงินทุกรายการ เพื่อความโปร่งใสและให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ซึ่งวงการคริปโตไม่เห็นด้วยกับแนวทางการปรับปรุงกฎหมายนี้และมองว่าเป็นการสอดแนมที่เกินจำเป็น ซึ่งเป็นความท้าทายของสหภาพยุโรปในในการพัฒนากฎหมายเพื่อคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของประชาชน ในขณะเดียวกันก็ต้องพิจารณาความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อไม่ออกกฎหมายที่กีดกันการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ในอนาคต

          สุดท้ายนี้สหภาพยุโรปมีแผนจัดตั้ง “Common European Data Spaces” เพื่อรวบรวมข้อมูลสำคัญอันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ 9 ประเภท ได้แก่ ข้อมูลด้านอุตสาหกรรม ข้อมูลด้านสุขภาพ ข้อมูลด้านการเกษตร และข้อมูลด้านพลังงาน เป็นต้น สำหรับประยุกต์ใช้ในเศรษฐกิจและสั่งคมปัจจุบันที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล โดยคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปคาดการณ์ว่ากฎหมายเกี่ยวกับการเข้าถึงและใช้ข้อมูลจะสามารถสร้าง GDP เพิ่มให้แก่เศรษฐกิจสหภาพยุโรปกว่า 270 พันล้านยูโรภายในปี ค.ศ. 2028