EU ทุ่มงบกว่า 1 พันล้านยูโร เปิดตัว 7 โครงการขนาดใหญ่เพื่อสร้างนวัตกรรมพลังงานสะอาด By thaieurope -June 17, 2022113

EU ทุ่มงบกว่า 1 พันล้านยูโร เปิดตัว 7 โครงการขนาดใหญ่เพื่อสร้างนวัตกรรมพลังงานสะอาด By thaieurope -June 17, 2022113

วันที่นำเข้าข้อมูล 20 มิ.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 20 มิ.ย. 2565

| 1,118 view

พลังงานไฮโดรเจนสะอาดถือเป็นความหวังสำคัญของสหภาพยุโรป (อียู) ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและบรรลุเป้าหมายด้านคาร์บอนเป็นศูนย์ในปี ค.ศ. 2050 โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานสูง ตลอดจนภาคการขนส่งและการผลิตไฟฟ้า แต่ในปัจจุบัน การผลิตไฮโดรเจนสะอาดในระดับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ยังมีข้อจำกัดบางประการ ทั้งเรื่องต้นทุนการผลิตที่สูง และความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน การเก็บรักษาและการขนส่ง ขณะที่ก๊าซไฮโดรเจนที่ใช้กันส่วนใหญ่สกัดมาจากก๊าซธรรมชาติที่มีการปล่อยก๊าซมีเทนและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศซึ่งส่งผลให้เกิดสภาวะโลกร้อน ดังนั้น อียูจึงให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการลงทุนในการพัฒนานวัตกรรมพลังงานสะอาดเพื่อผลักดันให้การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานในยุโรปเป็นไปอย่างราบรื่น

เมื่อเดือนเมษายน 2565 นาย Frans Timmermans รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ผู้รับผิดชอบด้านนโยบาย European Green Deal ของอียูได้เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือและเปิดตัว 7 โครงการขนาดใหญ่เพื่อสร้างนวัตกรรมพลังงานสะอาดมูลค่ากว่า 1 พันล้านยูโร ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมนวัตกรรม หรือ Innovation Fund เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาโลกร้อน โครงการดังกล่าวครอบคลุมการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบผลิตพลังงานสะอาด เช่น การใช้เทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ การผลิตและใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ รวมทั้งเทคโนโลยีการดักและกักเก็บคาร์บอน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อรองรับการใช้งานในภาคอุตสาหกรรมซึ่งมีกลุ่มเป้าหมาย คือ อุตสาหกรรมการผลิตเหล็ก ปูนซีเมนต์ โรงกลั่นน้ำมันและเคมีภัณฑ์ พร้อมทั้งช่วยสร้างงานในตลาดเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ อียูคาดหวังว่าโครงการนำร่องเพื่อผลิตพลังงานสะอาดเหล่านี้จะสามารถช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ถึง 76 ล้านเมตริกตัน ในช่วง 10 ปีข้างหน้า

โครงการดังกล่าวมีรายละเอียดที่สำคัญ ดังนี้

เบลเยียม – โครงการ Kairos@C ที่ท่าเรือแอนต์เวิร์ป (พัฒนาระบบการดักจับ รวมถึงการขนถ่ายและจัดเก็บก๊าซคาร์บอนอย่างครบวงจร)

สวีเดน – โครงการ BECCS at Stockholm (พัฒนาระบบการกักเก็บก๊าซมีเทนที่ได้จากการย่อยสลายสารชีวมวลและนําความร้อนทิ้งกลับมาใช้) และโครงการ Hybrit Demonstration (พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเหล็กปลอดคาร์บอนด้วยพลังงานทดแทน เช่น ไฮโดรเจนสีเขียว)

สเปน – โครงการ Ecoplanta ที่ตั้งอยู่ในเมือง El Morell (พัฒนาเทคโนโลยี Gasification ในการจัดการขยะแบบครบวงจรในระดับชุมชน หรือ Solid Waste Management) เช่น การคัดแยกเพื่อนำสารเคมีกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ และการผลิตกรีนเมทานอล และก๊าวชีวภาพอื่นๆ จากของเสียในภาคอุตสาหกรรม

ฝรั่งเศส – โครงการ K6 Program (พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตซีเมนต์ปลอดคาร์บอนด้วยการดักจับและจัดเก็บก๊าซคาร์บอนไว้ใต้ทะเลเหนือ) ที่ตั้งอยู่ในเมือง Lumbres ซึ่งถือเป็นโครงการผลิตซีเมนต์สะอาดแห่งแรกของโลก

อิตาลี – โครงการ TANGO (พัฒนาโมดูล 3GW Photovoltaic และฐานการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์) ซึ่งจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งของห่วงโซ่อุปทานต้นน้ำและเพิ่มกำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ในยุโรป

ฟินแลนด์ – โครงการ Sustainable Hydrogen and Recovery of Carbon project หรือ SHARC (พัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงไฮโดรเจนสะอาด ด้วยกระบวนการอิเล็กโทรลิซิสและเทคโนโลยีการดักจับคาร์บอน)


ที่มา
ซึ่งผู้สนใจสามารถสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับโครงการเหล่านี้ได้ที่ https://ec.europa.eu/clima/eu-action/funding-climate-action/innovation-fund/large-scale-projects_en

https://ec.europa.eu/clima/system/files/2021-11/policy_funding_innovation-fund_large-scale_successful_projects_en.pdf