แนวคิดเกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ของสหภาพยุโรป

แนวคิดเกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ของสหภาพยุโรป

วันที่นำเข้าข้อมูล 19 มิ.ย. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 10,021 view

 

แนวคิดเกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ของสหภาพยุโรป

เรียบเรียงโดย

นักศึกษาฝึกงานกองสหภาพยุโรป กรมยุโรป

 

                       เศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular economy หมายถึง แนวคิดเกี่ยวกับการนำทรัพยากรที่ถูกนำไปใช้แล้วให้กลับมาแปรรูปและนำกลับไปใช้ได้อีกในอนาคต เป็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อเป็นการแก้ปัญหาการใช้ทรัพยากรเกินขนาดจากการขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้นของประชากรโลก และปัญหาการจัดการขยะ

                       จากปัญหาดังกล่าว เมื่อปี 2558 คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) จึงได้พิจารณาหาแนวทางในการแก้ไข โดยได้นำเสนอแนวคิด “Industry 2020 in the Circular Economy” ซึ่งครอบคลุมมิติเกี่ยวกับด้านการผลิตของอุตสาหกรรมในรูปแบบใหม่ การปรับพฤติกรรมของผู้บริโภค และการจัดการขยะให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม

                       สำหรับแนวทางในการดำเนินการตามแนวคิด Circular economy ของคณะกรรมาธิการยุโรปนั้น มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

 1.  ด้านการผลิตในภาคอุตสาหกรรม

                      คณะกรรมาธิการยุโรปได้ออกข้อบังคับให้อุตสาหกรรมในภาคการผลิตต้องออกแบบผลิตภัณฑ์ (Product Design) ที่ง่ายต่อการแปรรูปและนำกลับไปใช้ใหม่ รวมถึงต้องเพิ่มอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์ด้วย โดยในอนาคต จะเพิ่มข้อกำหนดเกี่ยวกับการออกแบบผลิตภัณฑ์เชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Ecodesign) ซึ่งไม่เพียงแค่เน้นเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการประหยัดพลังงานเท่านั้น แต่ผลิตภัณฑ์ของภาคอุตสาหกรรมจะต้องสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ และมีความคงทนในการใช้งานสูง

                      นอกจากนี้ ในด้านกระบวนการผลิต (Production Processes)  คณะกรรมาธิการยุโรปได้ย้ำถึงความสำคัญของการใช้วัตถุดิบในการผลิตให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และมีแผนที่จะจะสร้างศูนย์ European Resource Efficiency Excellence เพื่อให้คำแนะนำกับผู้ประกอบการในการคำนวณปริมาณการใช้วัตถุดิบในการผลิตให้ใช้ประโยชน์สูงสุด และให้เงินทุนสนับสนุนผู้ประกอบการกลุ่ม SMEs ที่มีการดำเนินงาน/เป้าหมายที่จะใช้วัตถุดิบเพื่อการผลิตให้มีการสูญเสียหรือกลายเป็นวัสดุเหลือใช้น้อยที่สุด หรือสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์/มีกระบวนการผลิตที่ใช้นวัตกรรมในการลด/ใช้ทรัพยากร/วัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพ

2.  ด้านการบริโภค

                     เพื่อให้ผู้บริโภคในภาคครัวเรือนสามารถใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด คณะกรรมาธิการยุโรป จึงมีนโยบายที่จะส่งเสริมให้ผู้บริโภคได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรให้มากขึ้น เช่น การวางแผนพัฒนาฉลากพลังงาน (Energy labeling)  และเร่งออกกฎระเบียบเกี่ยวกับการรีไซเคิลในภาคครัวเรือนให้เข้มงวดมากขึ้น นอกจากนี้ ยังเตรียมที่จะออกนโยบายการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งเน้นให้มีการตระหนักถึงเรื่องการใช้ทรัพยากร และควบคุมราคาสินค้าให้สอดคล้องกับลักษณะทั่วไปของผลิตภัณฑ์ให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอายุการใช้งานหรือคุณภาพ

                     3.  ด้านการจัดการขยะ

                     คณะกรรมาธิการยุโรปมีนโยบายที่จะปรับปรุงกระบวนการจัดการขยะให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยตั้งเป้าหมายที่จะลดพื้นที่กักเก็บขยะ และการเผาทำลายขยะที่ส่งผลต่อมลภาวะทางอากาศ โดยจะผลักดันให้มีการใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์มาใช้ในการจัดการสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม หรือภาษีค่าธรรมเนียมผลิตภัณฑ์  และจะผลักดันให้ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปลดปริมาณการใช้เทคโนโลยี  การเปลี่ยนแปลงขยะให้เป็นพลังงาน (Residual waste treatment technology) ที่เกินความจำเป็นพร้อมไปกับการกระตุ้นให้ประเทศสมาชิกต้องปรับปรุงระเบียบการจัดการขยะให้สอดคล้องกับนโยบายและระบบการจัดการขยะตามที่ได้มีการตกลงร่วมกัน

                     นอกจากนี้ ภายในปี 2573 (ค.ศ. 2030) คณะกรรมธิการยุโรปมีเป้าหมายที่จะเพิ่มประสิทธิภาพ  การรีไซเคิลขยะจากภาคครัวเรือนให้ได้ร้อยละ 65 และร้อยละ 75 จากขยะที่เกิดจากบรรจุภัณฑ์ ตลอดจน ลดพื้นที่กักเก็บขยะให้เหลือเพียงร้อยละ 10 จากขยะภาคครัวเรือนทั้งหมด

4.  กระบวนการเปลี่ยนแปลงขยะให้กลายเป็นวัตถุดิบในการผลิต

                     โดยที่ทรัพยากร/วัตถุดิบบางประเภทที่ถูกใช้ไปแล้ว สามารถนำกลับมาแปรรูปและใช้เป็นวัตถุดิบขั้นต้นในกระบวนการผลิตของบางอุตสาหกรรมได้อีก  คณะกรรมาธิการยุโรปจึงสนับสนุนให้มีโครงการวิจัยเกี่ยวกับการแปรรูปวัตถุดิบที่ถูกใช้แล้วมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงให้มีการจัดตั้งตลาดในการซื้อขายวัตถุดิบที่มาจากการรีไซเคิลด้วย

                     นอกจากนี้ โดยที่การใช้วัตถุดิบรีไซเคิลยังคงมีปัญหาในเรื่องคุณภาพ คณะกรรมาธิการยุโรปจึงเสนอแนวทางให้มีการปรับปรุงข้อบังคับ/กฎเกณฑ์ด้านคุณภาพของวัตถุดิบจากการรีไซเคิลให้เข้มงวดมากขึ้น  ซึ่งรวมถึงกำหนดจำนวนครั้งที่สามารถนำวัตถุดิบกลับมาใช้ใหม่ และการพัฒนามาตรการควบคุมปริมาณสารเคมีที่ตกค้างอยู่ในวัตถุดิบจากขั้นตอนรีไซเคิลให้เข้มงวดมากขึ้นด้วย

                     5.  แนวทางการจัดการขยะจำแนกตามประเภท

                     คณะกรรมาธิการยุโรปได้เสนอแนวทางการแปรรูปและนำกลับมาใช้ใหม่ของขยะและวัตถุดิบประเภทต่าง ๆ ดังนี้

                     5.1 ขยะจากพลาสติก  เสนอให้ (1) จัดทำยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นจากพลาสติก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการจัดการขยะในทะเล หรือการย่อยสลายยากของพลาสติก (2) ออกนโยบายลดปริมาณการใช้พลาสติกต่าง ๆ อาทิ การใช้เป็นภาชนะบรรจุอาหาร และเป็นส่วนประกอบในยานพาหนะ เป็นต้น (3) พัฒนาความตกลงเรื่องการจัดการขยะระหว่างประเทศให้มีความเข้มงวดมากขึ้น โดยมุ่งเน้นไปที่การจัดการขยะจำพวกพลาสติก อาทิ การเรียกเก็บเงินค่าถุงพลาสติก ณ จุดขาย ทั้งนี้ EU มีเป้าหมายที่จะลดจำนวนการใช้ถุงพลาสติกลงเหลือไม่เกิน 90 ใบต่อคนต่อปี ภายในปี 2562 และ 40 ใบต่อคนต่อปี ภายในปี 2568

                    5.2 ขยะจากอาหาร (Food waste) คณะกรรมาธิการยุโรปตระหนักถึงปัญหาการบริโภคอาหารอย่างสิ้นเปลือง และเห็นว่า ปัจจุบันยังไม่มีตัวชี้วัดที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณอาหารที่ถูกบริโภคอย่างสิ้นเปลือง ที่ชัดเจนเพียงพอ จึงได้เสนอให้มีการหารือร่วมกับระหว่างประเทศสมาชิก เพื่อหาตัวชี้วัดที่ชัดเจนในการประเมินปริมาณอาหารที่ถูกบริโภคอย่างสิ้นเปลือง และออกนโยบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดการปัญหาขยะจากอาหาร เช่น  (1) การพัฒนาข้อกำหนดการจัดการขยะประเภทอาหารในแต่ละประเทศสมาชิกให้มีความเข้มงวดมากขึ้น อาทิ  การห้ามซูเปอร์มาร์เก็ตทิ้งหรือทำลายอาหารที่เหลือหรือหมดอายุ แต่ให้ต้องนำไปบริจาคให้กับองค์กร การกุศล หรือนำไปทำเป็นอาหารสัตว์ โดยสหภาพยุโรปมีเป้าหมายจะลดปริมาณให้เหลือร้อยละ 30 ภายในปี 2568 และ (2) การปรับปรุงฉลากบอกวันที่หมดอายุบนบรรจุภัณฑ์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

                   5.3 Critical raw materials หรือวัตถุดิบจำพวกอุปกรณ์ทางอิเล็กทรอนิกส์และแร่ธาตุที่สำคัญ โดยที่วัตถุดิบประเภทนี้มีความสำคัญในแง่ของโอกาสทางธุรกิจและทรัพยากรในภูมิภาค หากไม่สามารถแปรรูปและนำวัตถุดิบประเภทนี้กลับมาใช้ใหม่ได้ จะก่อให้เกิดผลกระทบร้ายแรงต่อระบบเศรษฐกิจและทรัพยากรภายในภูมิภาค คณะกรรมธิการยุโรปจึงพร้อมให้การสนับสนุนทุกฝ่ายที่วิจัยและพัฒนาการรีไซเคิลวัสดุจำพวก critical raw materials อย่างต่อเนื่องพร้อมทั้งพัฒนาข้อบังคับของอายุการใช้งานวัสดุประเภทนี้ให้เข้มงวดมากขึ้น

                   5.4 Construction and demolition หรือขยะที่เกิดจากการรื้อถอน ทำลาย และสร้างสิ่งก่อสร้าง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาขยะในภูมิภาคยุโรป คณะกรรมาธิการยุโรปจึงได้ปรับปรุงข้อตกลงเรื่องอายุการใช้งานของวัสดุก่อสร้างให้มีความเข้มงวดมากขึ้น และให้สอดคล้องกับกฏหมายในทุกประเทศสมาชิก รวมถึงทำหน้าที่ตรวจคุณภาพด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติของสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ด้วย

                  5.5 Biomass and bio-based products หรือ วัตถุดิบทางชีวภาพ  โดยทั่วไปวัตถุดิบประเภทดังกล่าวส่งผลดีต่อระบบ Circular economy เนื่องจากสามารถนำไปแปรรูปและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ พร้อมทั้งสามารถสลายตัวได้เองตามธรรมชาติ แต่ในทางกลับกัน ถ้าใช้วัตถุดิบประเภทดังกล่าวผิดวิธีก็จะก่อให้เกิดผลเสียต่อ Circular economy ได้ คณะกรรมาธิการยุโรปจึงมีมาตรการในการให้คำแนะนำและเผยแพร่วิธีที่ถูกต้องในการแปรรูปวัตถุดิบประเภทดังกล่าว พร้อมทั้งปรับปรุงข้อบังคับเกี่ยวกับการใช้วัตถุดิบทางชีวภาพภายในประเทศสมาชิก

                  การปฏิรูประบบเศรษฐกิจให้กลายเป็น Circular economy ต้องอาศัยหลายปัจจัยจากทุกภาคส่วน  ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยด้านเงินทุนที่ EU วางแผนไว้ว่าจะใช้งบประมาณมากถึง 1 พันล้านยูโร ในระยะเวลา 3 ปี (ปี 2561-2563) โดยใช้ 77 ล้านยูโรในการวิจัยและพัฒนาระบบ Circular economy และ 941 ล้านยูโร  ในการดำเนินงานจริง โดยเงินทุนส่วนใหญ่ได้รับการสนับสนุนมาจากโครงการเงินทุนต่าง ๆ ของ EU พร้อมทั้งยังต้องปลูกฝังแนวคิดการนำทรัพยากรที่บริโภคแล้วกลับมาใช้ใหม่แทนการทิ้งไว้อย่างสูญเปล่าให้กับประชาชน และต้องมีตัวชี้วัดผลการดำเนินงานที่ครอบคลุมและชัดเจน โดย Circular economy จะส่งผลดีต่อภูมิภาคยุโรป อาทิ โอกาสทางธุรกิจของทวีปยุโรปที่เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเพิ่มขึ้นของนวัตกรรมใหม่ การเพิ่มประสิทธิภาพของแรงงาน การเติบโตทางเศรษฐกิจ และการเพิ่มของอัตราการจ้างงาน เป็นต้น

 

****************

ข้อมูลอ้างอิง

http://ec.europa.eu/environment/circular-economy/index_en.htm

https://resource.co/article/eu-commits-1bn-horizon-2020-funding-circular-economy-until-2020-12198

** หมายเหตุ: ความเห็นและท่าทีต่าง ๆ ในบทความเป็นความเห็นส่วนบุคคลของผู้เรียบเรียงและไม่ได้สะท้อนท่าทีของกรมยุโรป ทั้งนี้ กรมยุโรปขอสงวนสิทธิ์ในการปรับปรุง แก้ไขถ้อยคำ หรือถอดถอนบทความโดยไม่จำเป็นต้องเเจ้งให้ทราบล่วงหน้า