Thailand Sufficiency Economy and Agenda 2030 Showing the way forward for sustainable development

Thailand Sufficiency Economy and Agenda 2030 Showing the way forward for sustainable development

วันที่นำเข้าข้อมูล 13 มิ.ย. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 4,164 view

ดร. ศุภชัย พาณิชภักดิ์ บรรยายพิเศษในหัวข้อ “Thailand’s Sufficiency Economy and Agenda 2030 : Showing the way forward for sustainable development?” ณ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์

                               

               ดร. ศุภชัย พาณิชภักดิ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก และเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ร่วมบรรยายพิเศษในหัวข้อ “Thailand’s Sufficiency Economy and Agenda 2030 : Showing the way forward for sustainable development?” เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2559 ณ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ อันเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมหารือภายในกลุ่ม Friends of Europe โดยมีผู้แทนคณะกรรมาธิการยุโรป สภายุโรป NGOs นักวิชาการ ผู้แทนคณะทูตในกรุงบรัสเซลส์ และผู้แทนภาคเอกชนเข้าร่วม สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

                1. การตื่นจากกระแสโลกาภิวัตน์ (Globalization Disillusionment)

                                กระแสการตื่นจากกระแสโลกาภิวัตน์ที่กำลังก่อตัวขึ้นทั่วโลกมีแก่นสำคัญมาจากการกระจายผลประโยชน์ของกระแสโลกภิวัตน์ที่ไม่เท่าเทียมกัน ดังที่ อดีตเลขาธิการสหปะชาชาติ นายโคฟี อันนัน เคยกล่าวไว้ว่า “กระแสโลกาภิวัตน์คือการที่เรือยอชต์พุ่งสูงขึ้น แต่เรือลำอื่น ๆ กลับจมน้ำ หาใช่เรือทุกลำพุ่งสูงขึ้นด้วยกระแสน้ำเดียวกัน” หลังจากวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจในปี ค.ศ. 2008 สหประชาชาติได้จัดทำรายงานเกี่ยวกับความจำเป็นในการปฏิรูปการบริหารจัดการเศรษฐกิจของโลก อย่างไรก็ตาม รัฐบาล และธนาคารกลางต่าง ๆ กลับเดินหน้ามาตรการผ่อนคลายในเชิงปริมาณทางการเงิน (QE) สร้างสภาพคล่องในเศรษฐกิจ ส่งผลให้กลุ่มชนชั้นสูงได้รับรายได้โดยตรงจากตลาดการเงินและตลาดหุ้น โดยไม่มีหน่วยงานอื่นได้รับผลประโยชน์นอกจากกลุ่มเจ้าของกิจการเอง ซึ่งทวีความไม่เท่าเทียมในสังคม และความกังวลของกลุ่มคนด้านล่างของปิรามิดทางเศรษฐกิจที่ไม่ได้เติบโต

                                นาย Larry Summers นักเศรษฐศาสตร์ได้กล่าวในบทความหนึ่ง โดยชี้ให้เห็นถึงการก่อตัวของกระแสชาตินิยมและการต่อต้านกระแสโลกาภิวัตน์ (the renaissance of nationalism and resistance to globalization)ที่เริ่มกลายเป็นแนวคิดสากล กระแสโลกาภิวัตน์จึงจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนทิศทางหลักจากผลประโยชน์ของกลุ่มชนชั้นสูงออกไปสู่ผลประโยชน์ของมวลชนมากยิ่งขึ้น แนวคิดทุนนิยมตลาดเสรีนั้น เหมือนกับหลักการประชาธิปไตย คือเป็นระบบเศรษฐกิจที่ส่งผลลบน้อยที่สุด ดังนั้นเราจึงไม่สามารถละทิ้งได้ แต่ควรที่จะพัฒนาแนวคิดให้ครอบคลุมมิติทางจริยธรรม ดังนั้นจึงเห็นได้ชัดว่า โลกต้องการ “เข็มทิศทางจริยธรรมใหม่” (a new moral compass) เพื่อนำพาโลกออกจากสภาวะการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่มั่นคง

2. ความเชื่อมโยงระหว่างปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy - SEP) และวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 (Sustainable Development Agenda 2030)

                               วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 (Sustainable Development Agenda 2030) ได้รับ                     การรับรองโดยสหประชาติเมื่อปีที่แล้ว โดยเป็นความพยายามที่จะสร้าง “เข็มทิศทางจริยธรรมใหม่” ซึ่งเน้นย้ำถึงความสำคัญของมิติด้านสังคมและมนุษย์ สำหรับ UNCTAD นั้น ได้เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาต่าง ๆ ว่าจะสามารถประสบความสำเร็จได้จากการพัฒนาภายใน ซึ่งสอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy - SEP) ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช ที่ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจาก                        ความพยายามที่จะล้มเลิกการปลูกฝิ่นของประชาชนชาวเขาทางภาคเหนือของประเทศไทย โดยทรงดำริแนวทางใน   การดำรงชีวิตรูปแบบใหม่ที่สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศ รวมถึงการขนส่งผลิตผลทางการเกษตรออกสู่ตลาดให้แก่ประชาชนเหล่านั้น จากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ โครงการในพระราชดำริได้ขยายตัวออกไปในวงกว้าง โดยสร้างหลักแนวคิดที่เน้นย้ำถึงความอุตสาหะ การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และความร่วมมือจากภาคประชาชน หรือ ความรู้สึกเป็นเจ้าของ (ownership) ซึ่งแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดชเกี่ยวการพัฒนาจากภายในนี้ นอกจากจะสอดคล้องกับหลักการพัฒนาของสหประชาชาติอย่างชัดเจนแล้ว ยังเชื่อมโยงกับแนวคิดเริ่มต้นทางเศรษฐศาสตร์ของนาย Adam Smith จากหนังสือ “The Theory of Moral Sentiments” ว่าด้วยการอยู่ร่วมกันในชุมชน ที่ซึ่งผู้คนควรมีความเข้าใจอันดี ความจริงใจ และความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และความตระหนักถึงการช่วยเหลือซึ่งกันและกันภายในชุมชนอีกด้วย

                               หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสอนให้มนุษย์ดำเนินกิจการทุกอย่างด้วยความรู้ (wisdom) คุณธรรม (value) และความตระหนักถึงเพื่อนมนุษย์ (feelings for fellow human beings) โดยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนี้สามารถปรับใช้ในบริบทในปัจจุบันได้ ดังต่อไปนี้

1. ความมีสติ/ตระหนักรู้ต่อสิ่งที่ทำ (To be mindful/conscious of what we are doing) คือการรับรู้ถึงผลของการกระทำต่าง ๆ เช่น การลงทุนมีความเสี่ยง

2. ความอุตสาหะและความจริงใจ (To persevere and be honest) คือ หลักธรรมาภิบาล และความโปร่งใส

3. การหลีกเลี่ยงการกระทำที่สุดโต่ง (To avoid extreme actions)  คือ การมุ่งเน้นความสุขและความอยู่ดีกินดีของประชาชนมากกว่าการเจริญเติบโตก้าวหน้าทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว

4. การมีความรู้แจ้งหรือการนำความรู้ไปปรับใช้ในทุกสิ่งที่ทำ (To be insightful or to apply wisdom in everything we do) คือ การวิเคราะห์ และค้นคว้าหาข้อมูลให้รู้แจ้งก่อนเริ่มลงมือทำกิจการใด ๆ และไม่หลงเชื่อตามที่คนอื่นกล่าวอ้าง นอกเสียจากจะลงมือทำและค้นพบด้วยตนเอง

                               การนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปปรับใช้ในชีวิตนั้น ไม่ได้ส่งผลในเชิงการเตรียมพร้อมเท่านั้น แต่เป็นการสร้างแนวคิดรูปแบบใหม่ หรือ นโยบาย ที่ซึ่งมนุษย์ต้องมองสถานการณ์อย่างรอบด้าน ทั้งผลกระทบในเชิงบวกและลบ และเตรียมพร้อมรับมือกับผลทุกรูปแบบ ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้นสอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐศาสตร์มหภาคสมัยใหม่ และวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ของสหประชาชาติได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นแนวทางในการนำโลกให้พ้นจากสภาวะที่เป็นปัญหาในปัจจุบัน ผ่านหลักปรัชญารูปแบบใหม่ในกรอบของหลักการทุนนิยมตลาดเสรี

เอกสารประกอบ

articles-20180625-161100-209558.pdf