พัฒนาการที่สำคัญของสหภาพยุโรป ปี 2559

พัฒนาการที่สำคัญของสหภาพยุโรป ปี 2559

วันที่นำเข้าข้อมูล 23 พ.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 37,189 view
พัฒนาการที่สำคัญของสหภาพยุโรป ปี 2559
 
ข้อมูลทั่วไป
1. การเมืองและความมั่นคง
1.1 การลงประชามติออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) แสดงให้เห็นถึงกระแสความเคลือบแคลงใจต่อการบูรณาการของยุโรป (Euroscepticism) และการได้รับความนิยมมากขึ้นของกลุ่มนิยมขวาจัดในยุโรป อันสืบเนื่องจากความไม่พอใจในนโยบายรัฐบาลในเรื่องผู้อพยพ และการก่อการร้าย อันทำให้มีการคาดการณ์กันว่า ในการเลือกตั้งทั่วไปในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์ ที่จะมีขึ้นในปี 2560 ฝ่ายขวาจัดอาจได้รับเลือกตั้งเข้ามาเพิ่มมากขึ้น
1.2 การโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ สหภาพยุโรปยังคงมุ่งมั่นที่จะลดจำนวนผู้อพยพโดยเน้นการดำเนินการตามข้อตกลงสหภาพยุโรป – ตุรกี เพิ่มขีดความสามารถของหน่วยงานรักษาพรมแดนและชายฝั่ง จัดทำกรอบหุ้นส่วนเพื่อความร่วมมือด้านการโยกย้ายถิ่นฐานและเพิ่มความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปกับประเทศ ที่สามที่เป็นประเทศต้นทาง อย่างไรก็ดี ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปยังคงมีความเห็นที่ต่างกันเกี่ยวกับจำนวน ผู้อพยพที่จะรับเข้ามาในสหภาพยุโรป โดยเฉพาะระหว่างประเทศที่ให้ความสำคัญกับหลักสิทธิมนุษยชน เช่น เยอรมนี สวีเดน กับประเทศกลุ่ม Visegrad ซึ่งไม่ต้องการรับผู้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐาน
1.3 การก่อการร้าย เหตุการณ์การก่อการร้ายหลายครั้งในช่วงปี 2558 – 2559 เกิดจากชาวต่างชาติที่ลี้ภัยและโยกย้ายถิ่นฐานเข้ามาในสหภาพยุโรปและเป็นการดำเนินการในลักษณะ “lone-wolf attack” มากขึ้น ซึ่งทำให้เกิดความกังวลว่า การรับผู้ลี้ภัยเข้ามาจะทำให้มีความเสี่ยงต่อการก่อการร้ายเพิ่มขึ้น โดยกลายเป็นประเด็นหาเสียงของนักการเมืองฝ่ายขวา ในขณะเดียวกัน สหภาพยุโรปก็ได้เพิ่มมาตรการป้องกันการก่อการร้ายอย่างเข้มข้นมากขึ้น ซึ่งรวมไปถึงการป้องกันแนวคิดสุดโต่งโดยเฉพาะในหมู่เยาวชน การเผยแพร่ลัทธิก่อการร้ายทางสื่อออนไลน์ ตลอดจนการขยายความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศสมาชิก
 
ข้อมูลทางเศรษฐกิจ

2. เศรษฐกิจของสหภาพยุโรปปี 2559

2.1 ภาพรวม ปัญหาเศรษฐกิจในยูโรโซนและปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะของประเทศสมาชิกยังคงมีอยู่ แม้ว่าจะมิได้ปะทุขึ้นมาจนเป็นวิกฤตเช่นในปี 2558 โดยคณะกรรมาธิการยุโรปคาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของยูโรโซนในปี 2559 จะอยู่ที่ร้อยละ 1.7 จากที่เติบโตร้อยละ 2.0 เมื่อปี 2558 ทั้งนี้ ยูโรโซนยังคงมีปัญหาความไม่เสมอภาคด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ และประเทศสมาชิกที่มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแรงกว่าจะได้เปรียบประเทศสมาชิกอื่น ซึ่งหากปัญหาดังกล่าวยังคงอยู่ อาจนำไปสู่การออกจากยูโรโซนของบางประเทศได้ โดยที่ผ่านมา เยอรมนีซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง ยังสามารถรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจไว้ได้ค่อนข้างดี ในขณะที่ภาคเศรษฐกิจของฝรั่งเศสยังคงทรงตัว กรีซยังคงประสบวิกฤตหนี้สาธารณะ และอิตาลียังคงต้องมุ่งแก้ไขปัญหาการขาดเสถียรภาพของสถาบันการเงินและการธนาคาร

2.2 การเจรจาความร่วมมือด้านการค้าที่สำคัญ

2.2.1 เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2559 สหภาพยุโรปและแคนาดาได้ลงนามความตกลงด้านการค้าและการลงทุนที่ครอบคลุม (Comprehensive Economic and Trade Agreement – CETA) หลังจากเจรจากัน 5 ปี โดยคาดว่า หลังจากมีผลบังคับใช้ ความตกลงดังกล่าวจะช่วยเพิ่มการค้าสินค้าและบริการระหว่างสหภาพยุโรปและแคนาดากว่าร้อยละ 23 และเพิ่ม GDP ของสหภาพยุโรป 12,000 ล้านยูโรหรือประมาณ 492,000 ล้านบาทต่อปี

2.2.2 สหภาพยุโรปกับสหรัฐอเมริกาได้เจรจาร่างความตกลง Transatlantic Trade and Investment Partnership (TTIP) ระหว่างกันรอบล่าสุด (รอบที่ 15) เมื่อวันที่ 3 - 7 ตุลาคม 2559 ซึ่งการเจรจา TTIP กับสหรัฐฯ ถือเป็นประเด็นสำคัญเร่งด่วนประการหนึ่งของสหภาพยุโรป เนื่องจากสหภาพยุโรป หวังว่า TTIP จะช่วยเพิ่มโอกาสทางการค้าและการลงทุน และลดอุปสรรคด้านกฎระเบียบในตลาดสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี การที่นาย Donald Trump ชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีความเป็นไปได้ว่า การเจรจาจะชะลอไปจนกว่าจะได้รับการสนับสนุนทางการเมืองจากรัฐบาลใหม่ของสหรัฐฯ

2.2.3 สหภาพยุโรปได้เจรจาความตกลงการค้าเสรีกับสิงคโปร์และเวียดนามเสร็จสิ้นแล้ว และกำลังดำเนินกระบวนการภายในก่อนลงนาม ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียได้เริ่มเจรจากับสหภาพยุโรปเมื่อกลางปี 2559 โดยในส่วนของไทยกับมาเลเซียนั้น อยู่ระหว่างการระงับการเจรจาชั่วคราว ส่วนความตกลงการค้าเสรีระหว่างอาเซียนกับสหภาพยุโรปยังอยู่ในช่วงของการระงับการเจรจา เนื่องจากสหภาพยุโรปประสงค์เจรจาแบบรายประเทศก่อนที่จะขยายไปสู่การเจรจาระดับภูมิภาค